บทความ

Bitcoin เป็นอย่างไรในตลอด 14 ปีที่ผ่านมา

image

บิตคอยน์ได้ถือกำเนิดมาอยู่ในโลกการเงินดิจิทัลเป็นเวลา 14 ปีแล้ว จากแนวคิดของการที่จะแก้ปัญหาการเงินรูปแบบเก่าที่ถูกควบคุมและแทรกแซงกลไกตลาดจากคนกลาง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ บิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลที่ผู้ใช้งานสามารถแลกเปลี่ยนกันอย่างอิสระแบบ Decentralised หรือปราศจากตัวกลาง ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มาช่วยรองรับการทำงานและทำให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถเข้าถึงและตรวจสอบทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนนั้นได้อย่างอิสระ

(บิตคอยน์คืออะไร? สำหรับนักลงทุนมือใหม่อ่านได้ที่นี่ www.bitkub.com/th/blog/what-is-bitcoin-8e94e8b61b5e)

ความเคลื่อนไหวของ Bitcoin ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา

2008 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2008 เกิดการเคลื่อนไหวครั้งแรก เมื่อคำว่า Bitcoin (บิตคอยน์) ปรากฎขึ้นในอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกของโลกในเอกสารที่ชื่อว่า Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System เป็นเอกสารที่อธิบายรายละเอียดของ Bitcoin อย่างละเอียดหรือ Whitepaper จากผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ใช้นามแผงว่า “ชาโตชิ นากาโมโตะ”

(สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่าน Bitcoin Whitepaper สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ https://bitcoin.org/en/bitcoin-paper)

image

2009 — เครือข่ายก็ได้เริ่มการทำงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2009 หลังจากซาโตชิสร้างบล็อกแรกขึ้นบนบล็อกเชนของ Bitcoin หรือที่ในวงการเรียกว่า Genesis block

2010 — เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2010 นายลาสซ์โล ฮันแยชซ์ โปรแกรมเมอร์ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาได้ใช้ Bitcoin ในการซื้อพิซซ่า Papa John’s จำนวน 2 ถาดในราคา 10,000 BTC ซึ่งในขณะนั้นมีราคาเพียงแค่ 0.04 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากคิดมูลค่าในปัจจุบันก็เท่ากับ 7,531,529,100 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีก็ถูกกำหนดให้เป็นวัน Bitcoin Pizza Day ด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นการใช้ Bitcoin ในการซื้อสินค้าได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจาก Bitcoin เกิดขึ้นได้เพียง 2 ปีกว่า

image

2011 — เป็นช่วงที่เอ็กซ์เชนจ์ซื้อขายคริปโทฯในต่างประเทศเริ่มลิสต์ Bitcoin มาให้นักลงทุนได้เทรดด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ราคาของ Bitcoin จากเดิมที่ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 32 ดอลลาร์ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน คิดเป็นการเติบโตถึง 3,200% ภายในเวลาเพียง 3 เดือน

2012 — เกิด Bitcoin Halving ครั้งแรก ในช่วงก่อนการ Halving บิตคอยน์มีมูลค่าอยู่ที่ 2.01 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลังจากการ Halving ครั้งแรก ซึ่งรางวัลลดลงจาก 50 BTC ต่อบล็อก เป็น 25 BTC ต่อบล็อก ราคาของ Bitcoin เพิ่มขึ้นไปสูงถึง 270.94 ดอลลาร์สหรัฐ (ราคาพุ่งขึ้นสูงถึง 13,480%) หลังจากนั้นราคาก็ค่อย ๆ ลดลงถึง 70% จนถึงมูลค่าที่ควรจะเป็น

2013 — เป็นช่วงปีที่ Bitcoin มีการเคลื่อนไหวรุนแรงมากที่สุดปีหนึ่ง ราคาของ Bitcoin ได้พุ่งขึ้นไปถึงระดับ 220 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน แต่ก็ย่อกลับลงแถว 70 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างรวดเร็วภายในเดือนเดียวกัน แต่ราคาไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ราคากลับมาพุ่งขึ้นต่ออีกครั้งในเดือนธันวาคม คราวนี้ขึ้นไปถึงระดับ 1,156 ดอลลาร์สหรัฐ และก็เช่นเดิม หลังจากที่ราคาได้ขึ้นไปทำระดับสูงสุด ราคาก็ย่อลงมาอย่างรวดเร็วที่ 315 ดอลลาร์สหรัฐ

ในปีเดียวกัน People’s Bank of China ได้ประกาศห้ามสถาบันทางการเงินในประเทศทำธุรกรรมใด ๆ ด้วย Bitcoin ส่งผลให้ราคาลดลงอย่างหนักและเข้าสู่ขาลงในปีต่อมา

2014–2015 เป็นช่วงปีที่ Bitcoin เริ่มปรับฐานใหม่เข้าสู่ขาลง โดยลงไปทำระดับต่ำสุด 314 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาได้รับการกระทบกระเทือนจากปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การยอมรับการชำระเงินโดย PayPal ยักษ์ใหญ่และบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Microsoft ไปจนถึงคำสั่งขายจำนวนมหาศาลจากกลุ่มนักลงทุนระดับวาฬ ที่ใช้โอกาสในการเข้าซื้อขายในช่วงสั้น ๆ (BearWhale) และข่าวลือเรื่องการปราบปรามในจีน ทำให้ราคาขึ้นมาได้เล็กน้อยที่ 434 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2015

(การเทรดระยะสั้นคืออะไร? และมีกี่รูปแบบ อ่านต่อได้ที่นี่ https://www.bitkub.com/th/blog/short-term-crypto-trading-d0eb84617888)

2016 — เกิด Bitcoin Halving ครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นในปีนี้ ในช่วงก่อนการ Halving บิตคอยน์มีมูลค่าอยู่ที่ 664.44 ดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากการ Halving ครั้งที่ 2 จะเหลือ 12.5 BTC ต่อบล็อก ในช่วงแรกราคาไม่หวือหวามากนัก แต่ราคาก็ค่อยขยับขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับ 998 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปี

2017 — เกิดการอัปเดตเครือข่ายของ Bitcoin ครั้งสำคัญที่ชื่อว่า Segwit (Segregated Witness) จากการอัปเดตครั้งนี้ นักพัฒนาให้ความเห็นว่ามีจะส่วนช่วยแก้ปัญหาการโอน Bitcoin ให้รวดเร็วขึ้นเพราะช่วยจัดการปัญหาความหนาแน่นในการทำธุรกรรมและใช้ค่าธรรมเนียมถูกลง

2018–2019 เป็นช่วงปีที่ราคาของบิตคอยน์แกว่งและย่อตัวลง หลังจากที่ขึ้นไปทำระดับสูงสุดใหม่เรียบร้อยในปี 2017 สำหรับในประเทศไทยการซื้อขายบิตคอยน์เริ่มเป็นที่แพร่หลายและสะดวกมากขึ้น จากการเปิดตัวของกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitkub Echange ที่เปิดให้นักลงทุนชาวไทยสามารถซื้อขาย Bitcoin และ Cryptocurrency อื่น ๆ ได้ด้วยเงินบาท

2020 — เป็นปีที่คนไทยคนเริ่มรู้จักบิตคอยน์และคริปโทฯกันมากขึ้น พร้อมกับเป็นช่วงการระบาดหนักของโควิด-19 ทำเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ธนาคารกลางสหรัฐรวมถึงอีกหลาย ๆ ประเทศจึงต้องพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ Quantitative Easing (QE) อัดฉีดเงินเพิ่มด้วยการพิมพ์เงินไม่จำกัด จนส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรงตามมา นักลงทุนส่วนหนึ่งตัดสินใจถือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างบิตคอยน์และสกุลเงินอื่นเพื่อหนีจากเงินเฟ้อ

ซึ่งในปีเดียวกันนี้ Bitcoin Halving ครั้งที่ 3 ก็ได้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งทำให้รางวัลจากการขุดลดลงจาก 12.5 BTC ต่อบล็อก เป็น 6.25 BTC ต่อบล็อก โดยช่วงต้นปี 2020 บิตคอยน์ถูกซื้อขายที่ 9,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปลายปี ราคาก็ขึ้นไปทำระดับสูงสุดเหนือกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ

image

2021 — ราคา Bitcoin ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนไปถึง 65,000 ดอลลาร์สหรัฐ (All-time High) ในช่วงปีนี้บิตคอยน์เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่พูดทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย เป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตโควิด ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น MicroStrategy ที่เลือกถือ บิตคอยน์เป็นสินทรัพย์สำรอง หรือ Morgan Stanley ที่เริ่มให้บริการเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี เรียกได้ว่าเป็นปีที่มีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาในวงการกันอย่างล้นหลาม รวมถึงรัฐบาลประเทศเอลซัลวาดอร์ ที่เดินหน้าอนุมัติให้บิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเป็นประเทศแรกของโลก ส่งผลให้นักลงทุนกลับมามีมุมมองที่ดีต่อตลาดคริปโทฯ

แต่ในปีเดียวกันก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้บิตคอยน์แกว่งไปมา เช่น เหตุการณ์ที่รัฐบาลจีนก็ได้ประกาศห้ามประกอบกิจการเกี่ยวกับการขุดคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศ ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ลดลงอย่างรวดเร็ว

2022 — ถือเป็นช่วงที่สินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในสภาวะตลาดหมี (Bear Market) มูลค่าของบิตคอยน์ในตลาดโลกลดลงถึง 60% ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะพี่ใหญ่ของวงการที่ได้รับผลกระทบ สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นด้วย อย่างเช่น Terra ที่มูลค่า -100% หรือแม้แต่ Ether, Solana, Cardano ก็ไม่สามารถหนีวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้เช่นกัน

(“ตลาดหมี” คืออะไร? ดีต่อใจนักลงทุนหรือไม่? คลิกอ่านเลย https://www.bitkub.com/th/blog/what-is-bear-market-7c8bc50dc33f)

2023 — ปีแห่งความหวังของบิตคอยน์ จากสภาวะตลาดหมีและเงินเฟ้อที่ส่งผลให้วงการสินทรัพย์ดิจิทัลผันผวนสูงอย่างคริปโทและโทเคนให้แกว่งไปมา รวมถึงพี่ใหญ่อย่างบิตคอยน์ด้วย ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราเริ่มได้เห็นการฟื้นตัวครั้งใหม่ของบิตคอยน์ที่เริ่มปรับฐานและมีแนวโน้มของราคาไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับตัวชี้วัด Relative Strength Index (RSI) ที่เกิน 70 แสดงให้เห็นสัญญาณ Overbought และกราฟที่ทำทรงคล้ายกับการฟื้นตัวของตลาดหมีรอบที่แล้ว นักลงทุนหลายคนเริ่มมีความหวังกับการขยับตัวในครั้งนี้ แต่ก็ต้องจับตามองกันต่อไปว่าจะมีปัจจัยใดที่ทำให้ราคาแกว่งขึ้นลงได้อีกบ้าง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้รวบรวมมาเป็นเพียงการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและคาดการณ์โดยวิเคราะห์จากข้อมูลในอดีต นักลงทุนควรมีวิจารณญาณบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม และศึกษาทำความเข้าใจสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังจะลงทุนให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง: Bitkub Blog, Bitcoin Addict, Bitcoin.org, Bitcoin Halving Countdown, CNBC

บทความโดย bitkub.com/blog
_________________________________________

คำเตือน:
*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

ผู้เขียน: Preeyapa Taweewikyagan | 17 ก.พ. 66 | อ่าน: 12040
บทความล่าสุด