บทความ

รู้จัก Zero-Knowledge Proofs ความโปร่งใสที่มาพร้อมกับความเป็นส่วนตัว

image

หลายคนน่าจะทราบว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีความโปร่งใสสูง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการให้ข้อมูลของตนถูกเห็นได้โดยคนอื่น ซึ่งสิ่งที่เข้ามาช่วยให้บล็อกเชนมีทั้งความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัวก็คือ Zero-Knowledge Proofs นั่นเอง และ Bitkub Blog จะมาสรุปเทคโนโลยีให้อ่านกันในบทความนี้ครับ

Zero-Knowledge Proofs คืออะไร

Zero-Knowledge Proofs (ZKP) คือวิธีพิสูจน์ให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเรารู้ข้อมูลนั้นจริง โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลให้อีกฝ่ายรู้ หรืออธิบายอีกแบบได้ว่า ZKP เป็นการตรวจสอบการอ้างสิทธิ์โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อน

ยกตัวอย่าง สมมติว่าคุณมีตู้เซฟที่ใช้รหัสล็อค คุณต้องการพิสูจน์ให้เพื่อนเห็นว่าคุณรู้รหัสดังกล่าวโดยไม่ต้องบอกว่าใช้ตัวเลขอะไรเป็นรหัสล็อคบ้าง คุณก็สามารถปลดล็อคตู้เซฟให้เพื่อนดูได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเลข เท่านี้เพื่อนก็เชื่อแล้วว่าคุณรู้รหัสนั้นจริง

ในบริบทของบล็อกเชน Zero-Knowledge Proofs เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เนื่องจากระบบการเข้ารหัสมักจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรม อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหรือความถูกต้องได้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทำให้ ZKP เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการมาตรฐานความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวด เช่น การดูแลสุขภาพและการเงิน

คุณลักษณะของ Zero-Knowledge Proofs

นอกเหนือจากการพิสูจน์โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญให้อีกฝ่ายรู้แล้ว Zero-Knowledge Proofs ต้องมีคุณลักษณะสำคัญต่อไปนี้ด้วย

Completeness (ความครบถ้วนสมบูรณ์) : หากข้อมูลที่ผู้ต้องการพิสูจน์ระบุไว้เป็นความจริง ระบบที่ใช้ ZKP จะต้องเปิดให้ผู้ตรวจสอบยืนยันว่าผู้พิสูจน์กำลังพูดความจริง

Soundness (ความถูกต้อง) : หากข้อมูลที่ผู้พิสูจน์ให้ไว้เป็นเท็จ ระบบ ZKP จะต้องให้ผู้ตรวจสอบสามารถปฎิเสธผู้พิสูจน์ได้

ตัวอย่างของ Zero-Knowledge Proofs

การประยุกต์ใช้ Zero-Knowledge Proofs ในวงการบล็อกเชนมีอยู่มากมายด้วยกัน ตัวอย่างการใช้งานที่โดดเด่นที่สุดคือการยืนยันตัวตน ความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรม และการจัดการซัพพลายเชน

การยืนยันตัวตน: วิธีการยืนยันตัวตนแบบเดิมมักกำหนดให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขประจำตัวประชาชน ฯลฯ ผู้ใช้สามารถยืนยันตัวตนได้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ซึ่งลดความเสี่ยงจากการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว

ความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรม: ในเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบเดิม รายละเอียดธุรกรรมทั้งหมดจะถูกเห็นได้โดยทุกคนที่สามารถเข้าถึงบล็อกเชนได้ ZKP ช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมแบบส่วนตัวได้โดยไม่ต้องเปิดเผยรายละเอียดธุรกรรมใด ๆ เพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

การจัดการซัพพลายเชน: ZKP สามารถใช้ในการจัดการซัพพลายเชนเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าและวัสดุเป็นของแท้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ บริษัทต่าง ๆ สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ได้ในขณะที่รักษาความลับทางการค้าไว้ได้

โปรเจกต์ที่ใช้ Zero-Knowledge Proofs

1. Polygon Miden

Polygon Miden เป็น Layer 2 สำหรับ Ethereum ที่ใช้ Zero-Knowledge Proofs เพื่อ “มัดรวม” ธุรกรรมนับพันที่เกิดขึ้นบน Layer 2 และส่งไปบันทึกบน Ethereum เป็นธุรกรรมเดียว ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมและลดค่าธรรมเนียมลงได้

2.Mina

Mina เรียกตัวเองว่าเป็นบล็อกเชนที่เบาที่สุดในโลก โดยใช้การเข้ารหัสขั้นสูงและ Zero-Knowledge Proofs เพื่อออกแบบบล็อกเชนที่มีขนาดทั้งเครือข่ายเพียง 22kb ซึ่งเทียบได้โพสต์ในทวีตเตอร์ไม่กี่โพสต์เท่านั้น

สรุป

Zero-Knowledge Proofs เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในเทคโนโลยีบล็อกเชน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหรือความถูกต้องโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทำให้เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการมาตรฐานความเป็นส่วนตัวสูง

อ้างอิง Benjamindada, CoinEsper, Coingecko
— — — — — — — — — —

บทความ Bitkub Blog ที่คุณอาจสนใจ
Blockchain คืออะไร เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกหรือเปล่า?
รู้จัก Ethereum คริปโทที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
รู้จัก MATIC หนึ่งใน Layer 2 ของ Ethereum ที่มาแรงที่สุดตอนนี้
รู้จัก Dusting Attacks กลยุทธ์สุดเนียนที่มิจฉาชีพใช้ระบุตัวเหยื่อ

— — — — — — — — — —

เรียนรู้เรื่อง บิตคอยน์ (Bitcoin) และ Cryptocurrency ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจโลกของคริปโทฯ ได้ดีขึ้น ที่ Bitkub Blog และหากคุณยังเป็นมือใหม่ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ “แหล่งความรู้ มือใหม่หัดเทรดคริปโต เริ่มต้นที่นี่

*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 07 มิ.ย. 66 | อ่าน: 6,746
บทความล่าสุด