บทความ
สรุปแนวคิดสำคัญจาก World Economic Forum 2023 “ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง”
การประชุม World Economic Forum 2023 เวทีระดับโลกที่เหล่าผู้นำ ผู้บริหาร และนักวิชาการจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจโลก จัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่มีคนมาร่วมงานเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์
ในปีนี้ประเทศไทยมีตัวแทนไปทั้งหมด 11 คน รวมถึงคุณท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็ได้รับเชิญให้ร่วมแชร์ความคิดเห็นในเวที World Economic Forum 2023 ครั้งนี้ในพาแนล Tokenized Economies, Coming Alive ด้วยเช่นกัน
แนวคิดสำคัญที่ได้จากการประชุม World Economic Forum 2023 ทิศทางของเศรษฐกิจข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และเราควรเตรียมตัวเช่นไร Bitkub Blog จะมาสรุปให้ฟังครับ
ที่มาของชื่อธีม Collaboration in a Fragmented World
การประชุมปีนี้มีชื่อธีมว่า Collaboration in a Fragmented World หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง” มีที่มาจากสถานการณ์โลกปัจจุบันที่มีการแบ่งฝักฝ่าย โดยแบ่งเป็นฝั่งซ้ายกับขวา หรือความพยายามแย่งอำนาจกันระหว่างประเทศมหาอำนาจฝั่งตะวันออกและตะวันตก เห็นได้จากการที่จีนเริ่มนำหุ้นของบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของใครของมัน อินเทอร์เน็ตที่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง เป็นต้น
ไม่ใช่แค่การแบ่งแยกฝั่งซ้าย-ขวาเท่านั้น แต่ยังมีการแบ่งเป็นฝั่งบนกับล่างด้วย ซึ่งด้านบน (Global North) ก็คือประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนด้านล่าง (Global South) คือประเทศที่ยังไม่พัฒนา สังเกตได้จากตอนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้วัคซีนก่อนประเทศอื่น ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มประเทศฝั่งบนก็สามารถทำได้ก่อนเช่นกัน รวมถึงการร่างสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (Treaty) ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็สามารถร่างสัญญาที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองได้มากกว่า ขณะที่ประเทศที่อยู่ด้านล่างจะไม่ค่อยมีสิทธิ์ออกเสียงมากนัก จึงมักจะตกเป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบ
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณว่าโลกกำลังรับฟังเสียงของประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น อันเนื่องมาจากแรงกดดันจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ความไม่เท่าเทียมกันที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Global South ถือว่ามีจำนวนประชากรมากถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก และอีกปัจจัยหนึ่งคือเราอยู่ในยุคที่ถูกเรียกว่า Perfect Storm ที่หมายความว่าปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ปัญหาโลกร้อน สงครามยูเครนรัสเซีย อัตราการเกิดของประชากรที่น้อยลง และการมาของเทคโนโลยี AI ที่เป็นอีกคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุดใน World Economic Forum ปีนี้
เราต้องปรับตัวในยุค AI อย่างไร
การมาของ ChatGPT และเทคโนโลยี AI อาจสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับตลาดแรงงาน เห็นได้จากการที่ Microsoft ประกาศเลิกจ้างโปรแกรมเมอร์กว่า 10,000 ชีวิต หลังจาก Microsoft ได้ลงทุนในบริษัท OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT
ขนาด Microsoft บริษัทไอทีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ยังประกาศเลิกจ้างโปรแกรมเมอร์มากกว่าหนึ่งหมื่นคน ซึ่งก่อนหน้านี้โปรแกรมเมอร์คือหนึ่งในอาชีพที่ใคร ๆ ก็คิดว่าไม่น่าจะตกงาน แต่การมาของ ChatGPT ก็ได้ลบล้างความคิดนั้นไปแล้ว และนี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา ผลกระทบของมันจะใหญ่แค่ไหน
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้คนต้องเริ่มปรับตัวในยุคที่ AI กำลังมา ก็คือการเพิ่มทักษะใหม่ (ReSkill) โดยในยุคที่ AI สามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้ บรรดาผู้นำที่เข้าร่วม World Economic Forum มองว่าทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการต่อรอง (Negotiation) ทักษะการนำเสนอ (Presentation) ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) การสื่อสาร (Communication) เป็นต้น
ซึ่งทักษะที่ยกตัวอย่างมายังไม่ค่อยมีมหาวิทยาลัยไหนเปิดหลักสูตรสอนอย่างจริงจัง หมายความว่าสถาบันการศึกษาเองก็ต้องปรับตัวและพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ AI ด้วย เราไม่สามารถเรียนรู้ผ่านการท่องจำได้อีกต่อไป
ทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป
อีกหนึ่งประเด็นทางเศรษฐกิจที่เหล่าผู้นำในที่ประชุมก็แสดงความกังวลกันมากที่สุดก็คืออัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือ Federal Reserve ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ที่ระดับ 2% แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ และไม่มีท่าทีว่าจะสามารถอัตราเงินเฟ้อลดมาได้ในเร็ว ๆ นี้
โดยในพาแนลที่พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ คุณ Larry Summers อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐฯ ก็ได้เน้นย้ำว่าธนาคารทั่วโลกควรให้ความสำคัญกับการลดอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในที่ระดับ 2% ให้ได้ ไม่ควรเปลี่ยนคำพูด ไม่อย่างนั้นผู้คนจะสูญเสียความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลางทันที นอกจากนี้ ผู้ร่วมการเสวนาบนเวทียังมีความเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปี 2023 นี้อย่างแน่นอน ในกรณีที่ธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ สิ่งที่จะตามมาคือสถาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งจะยาวนานและหนักกว่าครั้งก่อน ๆ อย่างมาก
ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษอย่าง Barclays ก็มองว่าปี 2023 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในรอบ 40 ปี และประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักกว่าก็คือประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือกลุ่ม Global South
เพราะฉะนั้นสำหรับประชาชนทั่วไป วิธีที่จะเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ได้ก็คือการรักษาสภาพคล่อง ถือเงินสดไว้ อย่าก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น และต้องไม่ลืมพัฒนาทักษะของตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางที่โลกกำลังดำเนินไป
การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่จริงจังที่สุด
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเรากำลังเผชิญกับ Perfect Storm หรือการที่ปัญหาหลาย ๆ อย่างรุมเร้าเข้ามาพร้อมกัน หนึ่งในนั้นก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน
ทุกคนน่าจะทราบกันดีว่าปัญหาโลกร้อนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นมานานมากแล้ว และก็ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร จนตอนนี้ปัญหาได้รุกรามเกินกว่าจะแก้ไขได้ไปแล้ว ดังนั้นคำว่า Green Economy จึงกลายเป็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคำหนึ่งในที่ประชุม World Economic Forum 2023 ซึ่ง Green Economy หมายถึงเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่ายให้สามารถลดการปล่อยมลพิษเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน (Sustainability) ไปพร้อมกัน
ปัจจุบัน เกือบทุกอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การเลี้ยงปศุสัตว์ การคมนาคม ฯลฯ ล้วนปล่อยก๊าซมีเทนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเป้าหมายต่อไปของบริษัททั่วโลกก็คือการทำให้มีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้
ผู้นำหลายคนในที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าต่อไปนี้ การผลักดันให้เรื่องของ Green Economy จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งจากฝ่ายรัฐที่อาจพิจารณาใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยปล่อยมลพิษเป็นจำนวนมากอยู่ และสนับสนุนสินค้าที่ผลิตขึ้นปล่อยมลพิษน้อยที่สุดแทน ขณะที่บริษัทเอกชนก็ต้องเริ่มศึกษาว่าจะทำอย่างไรบริษัทถึงจะเป็น Net Zero ให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นก็อาจประกอบธุรกิจได้อย่างยากลำบาก
ไม่เพียงเท่านี้ หนึ่งในสิ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับการประชุม World Economic Forum ก็คือการที่กองทุน BlackRock, Inc. ประกาศจะขายหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เป็น NetZero ทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่ง BlackRock นับเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถือหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Amazon, Alphabet, Meta ฯลฯ นั่นจึงเป็นอีกสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะเอาจริงกับเรื่องของ Green Economy
การที่กระแสของเศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนไปทาง Green Economy นั่นหมายความว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ก็กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน ยกตัวอย่าง บริษัทที่เคยส่งออกสินค้าได้มาก แต่ถ้าไม่เริ่มหาทางลดการปล่อยมลพิษ ต่อไปผู้ซื้อก็จะหันไปหาบริษัทที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อม ๆ กันแทน ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงต้องเร่งศึกษาว่าจะทำอย่างไรถึงจะลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ให้ได้โดยด่วน ไม่เช่นนั้นการทำธุรกิจก็จะเผชิญความยากลำบากอย่างมากในอนาคต
สรุปแนวคิดที่ได้จาก World Economic Forum 2023
การประชุม World Economic Forum 2023 ครั้งที่ 53 มีชื่อธีมว่า “ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง” เพราะว่าปัจจุบัน โลกกำลังถูกแบ่งออกเป็นมหาอำนาจฝั่งตะวันออกและตะวันตก และการแบ่งประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา และเรายังอยู่ในยุค Perfect Storm หรือยุคที่ปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน
อย่างแรกคือการมาของ AI ที่อาจเข้ามาแย่งงานในตลาดแรงงานมากขึ้น เราจึงควรเริ่มพัฒนาทักษะที่จำเป็นกับอนาคตอย่างทักษะการต่อรอง การนำเสนอ ความเป็นผู้นำ และการสื่อสารให้มากขึ้น
ต่อมาคือเรื่องของเงินเฟ้อที่ยังอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ทุกคนจึงควรเก็บเงินสดเอาไว้ ลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย และพยายามอย่าก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่ม
สุดท้ายคือเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy ที่จะเริ่มผลักดันกันจริงจังมากขึ้น บริษัทที่ไม่สามารถลดการปล่อยมลพิษลงได้อาจเผชิญกับภาษีหรือมาตรการที่ทำให้ประกอบธุรกิจยากขึ้น จึงควรเริ่มศึกษาและทำให้ธุรกิจสามารถลดการปล่อยมลพิษลงเป็นการด่วน
อ้างอิง World Economic Forum, BangkokBizNews
_________________________________________
คำเตือน:
*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต
_________________________________________
ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่:
AI กับ Blockchain จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร?
การประชุม FED คืออะไร ส่งผลกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร?