บทความ

Blockchain จะมาแก้ปัญหาอะไร?

What will Blockchain solve?

image

Blockchain ฉบับเข้าใจง๊ายง่าย

ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี หรือไม่ค่อยมีเวลาไปศึกษาว่า Blockchain คืออะไร ทำงานอย่างไร แต่คุณก็อาจได้ยินมาบ้างว่า Blockchain มันกำลังจะมาเปลี่ยนแปลงวงการการเงิน รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เริ่มหันมาประยุกษ์ใช้ Blockchain เข้ากับกิจการของพวกเขาบ้างแล้ว

สำหรับบทความนี้เรามาดูกันว่า Blockchain คืออะไร โดยเราจะเน้นแบบ “เข้าใจง๊ายง่าย”

Blockchain คืออะไร?

Blockchain ว่าง่ายๆ ก็คือ “เทคโนโลยีสำหรับการเก็บชุดข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง ที่สามารถแสดงประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอย่างโปร่งใส โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง” คีย์เวิร์ดในที่นี้คือคำว่า “ไม่ต้องอาศัยคนกลาง” นั่นก็เพราะว่าระบบเก็บข้อมูลที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัยคนกลางทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น เงินในบัญชีธนาคารของเรา เงินของเราก็คือข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่ในระบบของธนาคาร ธนาคารก็คือคนกลางที่ดูแลข้อมูลของเรา

ส่วนการเก็บข้อมูลแบบ Blockchain จะเป็นการเก็บและแชร์ข้อมูลที่เหมือนกันออกไปในแต่ละกล่อง (Block) แต่ละกล่องก็จะถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน (Chain) ที่นี้เมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อมูลเกิดขึ้น ทุกกล่องจะรับทราบและทำการอัพเดตข้อมูลให้เหมือนกันหมด นั่นจึงทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปลอมแปลงข้อมูลในกล่องใดกล่องหนึ่ง เพราะว่าระบบนี้จะตัดสินความถูกต้องของข้อมูลแบบเสียงข้างมาก เท่ากับว่ายิ่งเป็นเครือข่าย Blockchain ที่ใหญ่เท่าไหร่ ความน่าเชื่อถือก็จะมากขึ้นเท่านั้น

มองในอีกมุมหนึ่ง Blockchain ก็คือระบบที่จะมาเป็นมาตรฐานใหม่ให้กับการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งบทบาทของมันส่วนมากจะอยู่เบื้องหลังมากกว่า หากจะเปรียบเทียบก็คงคล้ายกับระบบ TCP/IP ซึ่งมีไม่กี่คนที่รู้จักชื่อนี้ แต่มันก็คือระบบที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นรากฐานของอินเทอร์เน็ตที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้นั่นเอง

ถึงแม้สักวันหนึ่ง คุณอาจได้ยินคำว่า Blockchain น้อยลง แต่ขอให้เข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะกลายเป็นระบบพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังของโลกยุคใหม่ที่เรากำลังจะก้าวเข้าไปด้วยกัน

Blockchain จะมาแก้ปัญหาอะไร?

การเงิน

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ในเมื่อการเก็บข้อมูลแบบ Blockchain เป็นการเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือระหว่างผู้ใช้งาน (Peer-to-Peer) ด้วยกัน ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง ผลกระทบที่น่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ตอนนี้ก็คงเป็นระบบธนาคาร เนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะเป็นการทำธุรกรรมผ่านตัวกลาง ซึ่งก็คือธนาคาร หากคุณจะโอนเงินออนไลน์ให้เพื่อน คุณก็ต้องใช้แอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรือหากคุณจะโอนเงินข้ามประเทศ คุณก็ต้องดำเนินการผ่านทางธนาคารหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง องค์กรเหล่านั้นก็จะคิดธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมครั้งนั้นๆไป นั่นหมายความว่า หากเทคโนโลยี Blockchain ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย การทำธุรกรรมก็ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางและไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกต่อไป

การค้าระหว่างประเทศ

ในปัจจุบัน การทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีเอกสารประกอบเป็นกองภูเขา ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของความล่าช้า เพราะว่าแต่ละฝ่ายอยากมั่นใจในตัวอีกฝ่ายก่อนจะตกลงทำธุรกรรม การนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกษ์ใช้ในจุดนี้จะช่วยให้แต่ละฝ่ายสามารถตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานของอีกฝ่ายได้แบบ Real-time ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือเรื่องของความโปร่งใสที่มากขึ้น เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ ลดความเสี่ยง และลดความจำเป็นของเอกสารลง

การขนส่ง

เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain สามารถกระจายการบันทึกความคืบหน้าของการขนส่งได้แบบ Real-time กับทุกๆฝ่ายที่อยู่ในเครือข่าย ดังนั้นผู้ประกอบการเกี่ยวกับการขนส่งสามารถใช้เทคโนโลยีในการคัดกรองเส้นทางขนส่งที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดปัญหาคอขวด และยังลดความจำเป็นต้องใช้งานนายหน้า ทนาย หรือบุคคลที่สามลงไปได้เช่นกัน

การแพทย์

ในวงการการแพทย์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร เริ่มมีการประยุกษ์ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาสักพักแล้ว ผลประโยชน์ที่คนทั่วไปน่าจะได้รับมากที่สุดคือเรื่องของการส่งประวัติคนไข้ระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้ประวัติคนไข้แต่ละคนถูกแชร์ออกไปในแต่ละโรงพยาบาล หากมีเหตุฉุกเฉินทำให้คุณไม่สามารถไปโรงพยาบาลประจำได้ แพทย์จากอีกโรงพยาบาลก็สามารถตรวจประวัติของคุณได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้อีกโรงพยาบาลส่งประวัติของคุณมาหรือเปิดประวัติใหม่ นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษา การพัฒนายาเวชภัณฑ์ หรืองานวิจัยต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาคนไข้ได้

สื่อบันเทิง

ทุกวันนี้หลายๆคนคงได้ใช้บริการสื่อบันเทิงที่มีระบบเก็บเงินแบบ Subscription-based หรือที่คุณต้องจ่ายเงินรายเดือนเพื่อรับชมภาพยนต์หรือซีรีย์ อย่างเช่น Netflix หรือ Amazon Prime ปัญหาคือบางทีเราอาจไม่ต้องการจ่ายเต็มราคาเพื่อดูเพียงไม่กี่เรื่อง ซึ่งการประยุกษ์ใช้เทคโนโลยี Blockchain จะทำให้คุณสามารถจ่ายเงินแบบ Micropayment หรือจ่ายเงินเป็นจำนวนน้อยๆ เพื่อรับชมภาพยนต์ที่ต้องการดูเพียงเรื่องเดียวได้ ยกตัวอย่าง คุณอาจต้องจ่ายเงินรายเดือนถึง 400 บาท แต่ด้วยระบบ Micropayment คุณอาจจ่ายไม่ถึง 10 บาทเพื่อรับชมเฉพาะภาพยนต์ที่คุณต้องการเท่านั้น

การศึกษา

สถาบันการศึกษาต่างๆสามารถใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกประวัติของนักศึกษาและแชร์ประวัติเหล่านั้นออกไปแก่สถาบันหรือองค์กรในเครือข่าย ทำให้กระบวนการพิจารณาศึกษาต่อหรือการจ้างงานเป็นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพราะแต่ละฝ่ายจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของนักศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็น ปริญญา เกียรติบัตร หรือผลงาน และยังสามารถช่วยลดปัญหาการปลอมใบปริญญาได้อีกด้วย นอกจากนี้ ทางสถาบันการศึกษาเองก็สามารถใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการแลกเปลี่ยนเนื้อหาวิชาการหรือวิธีการสอนเพื่อที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไปอีกขั้น

เห็นไหมครับว่าเทคโนโลยี Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเราขึ้นไปอีกขั้น หลักๆคือเรื่องของการเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือสูงมาก และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างลงไปได้อีกด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลประโยชน์เพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี Blockchain เท่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมาย เราจึงต้องคอยติดตามข่าวสารกันให้ดี ซึ่งที่ Bitkub เรามีภารกิจสำคัญที่จะนำคุณเข้าสู่โลกดิจิทัลยุคใหม่อย่างแท้จริง การมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี Blockchain จะทำให้คุณเข้าสู่ยุดใหม่ได้อย่างมั่นใจ เพราะฉะนั้นอย่ารอช้า กดติดตาม Bitkub กันให้ไว เพราะเรามีข่าวและบทความดีๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเงินมาอัพเดทให้คุณทุกวัน!

Reference:

https://www.efinancethai.com/MoneyStrategist/MoneyStrategistMain.aspx?id=ZHNzbVhubGcyeU09

https://techsauce.co/tech-and-biz/understand-blockchain-in-5-minutes

https://brandinside.asia/what-is-blockchain/

https://consensys.net/blockchain-use-cases/

https://www.mercatus.org/system/files/mcdaniel-blockchain-trade-mercatus-research-v2.pdf

https://builtin.com/blockchain/blockchain-healthcare-applications-companies

https://www.jpmorgan.com/commercial-banking/insights/future-blockchain-media-entertainment

https://builtin.com/blockchain/blockchain-supply-chain-logistics-uses

https://www.gartner.com/smarterwithgartner/4-ways-blockchain-will-transform-higher-education/#:~:text=Improve%20record%20keeping-,The%20most%20promising%20use%20case%20for%20blockchain%20in%20higher%20education,an%20intermediary%20to%20verify%20them.

https://www.bangkokpost.com/tech/1677244/blockchain-meets-education

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 15 ธ.ค. 64 | อ่าน: 10,338
บทความล่าสุด