บทความ
Web 3.0 คืออะไร เกี่ยวกับบล็อกเชนอย่างไร?
Web 3.0 คืออะไร? มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับเทคโนโลยีบล็อกเชน? ในบทความนี้ เราจะมาไขข้อสงสัยกับเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตและทิศทางของเศรษฐกิจโลกไปด้วยกัน!
ความเป็นมาของ Web
ก่อนที่จะมารู้จักกับ Web 3.0 เราลองย้อนกลับไปดูวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตในแต่ละยุคสมัยกันสักเล็กน้อย เริ่มตั้งแต่ยุค Web 1.0
Web 1.0 นับเป็นยุคแรกสุดของอินเทอร์เน็ต โดยเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถทำได้แค่ “อ่าน” หรือ “ดาวน์โหลด” ข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์เท่านั้น ไม่สามารถโต้ตอบหรือสร้างเนื้อหาบน Web 1.0 ได้
Web 2.0 ปัจจุบัน เว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลมีเดียที่เราคุ้นเคยกันอย่าง Facebook, Twitter, Instagram และอีกมากมายล้วนเป็น Web 2.0 ที่ผู้ใช้สามารถ “สร้าง” หรือ “อัพโหลด” เนื้อหาขึ้นไปอยู่บนเว็บไซต์ได้ เช่น การโพสต์รูปภาพบน Instragram การแสดงความคิดเห็นบน Facebook หรือ Twitter เป็นต้น
การมาของ Web 2.0 ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการเริ่มหันมาทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การรับชมสื่อบันเทิง การซื้อขายสินค้า ทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้โดยมีตัวกลางเป็นผู้คอยตรวจสอบ ควบคุม และดำเนินการตามข้อมูลหรือคำสั่งที่ผู้ใช้อัพโหลดขึ้นมาบนเว็บไซต์
ยกตัวอย่างเช่น การซื้อของออนไลน์ที่มี Shopee หรือ Lazada เป็นตัวกลางคอยดูความเรียบร้อย ดำเนินการตามคำสั่งของผู้ใช้ และกำหนดกฏเกณฑ์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม เป็นต้น
Web 3.0 คืออะไร?
มาถึงในส่วนของ Web 3.0 ที่ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างพัฒนา แต่มีแนวคิดหลักคือ Decentralized Web หรือการเป็นเว็บไซต์แบบกระจายศูนย์ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางเป็นผู้คอยเก็บข้อมูลและดำเนินการเพียงผู้เดียวอีกต่อไป รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาใช้เพื่อยกระดับการท่องอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต
สำหรับ Decentralized Web สิ่งนี้หมายความว่า ข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตจะไม่ได้ถูกเก็บไว้ที่ตัวกลางเพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่จะเป็นการเก็บข้อมูลแบบกระจายเครื่องเซิร์ฟเวอร์ออกไปหลาย ๆ เครื่อง แต่ละเครื่องจะมีการตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันเสมอ ทำให้ปลอดภัยต่อการปลอมแปลงหรือการแฮ็กข้อมูล
Web 3.0 เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนอย่างไร?
เทคโนโลยีบล็อกเชนมีแนวโน้มสูงที่จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับ Web 3.0
เริ่มต้นจากการมาของ Bitcoin (BTC) ในปี 2009 ที่ใช้บล็อกเชนในการเก็บข้อมูลธุรกรรมทุกรายการที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย ต่อมา Ethereum (ETH) ในปี 2013 ซึ่งเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่สามารถใช้ Smart contract เพื่อสร้างข้อตกลงที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบตามที่กำหนด เปรียบเสมือนกับการเขียนโปรแกรมให้ทำงานบนบล็อกเชนนั่นเอง
ความสามารถในการเขียน Smart contract บนบล็อกเชนของ Ethereum ทำให้ผู้พัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ หรือ dApp (Decentralized Application) หรือบริการด้านการเงินอย่าง DeFi (Decentralized Finance) ขึ้นบนเครือข่ายได้นั่นเอง
สรุป
Web 3.0 เป็นแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบัน เว็บไซต์ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ Web 2.0 โดย Web 3.0 ถูกคาดว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านความกระจายศูนย์มาจากเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum เพื่อทำให้ข้อมูลมีความหลากหลายและปลอดภัยมากขึ้น
นอกจากนี้ Web 3.0 ก็ถูกคาดว่าจะมีการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น AI (Artificial Intelligence) มาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย เพื่อทำให้อินเทอร์เน็ตสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากยิ่งกว่าเดิม
อ้างอิง Simba, PSH, International Banker
— — — — —
เปิดบัญชีและเริ่มลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีกับ Bitkub Exchange เลย: https://www.bitkub.com/signup
*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน*