บทความ

Play to Earn คืออะไร? ทำไมถึงได้รับความนิยม

image

ก่อนที่จะตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่า Play to earn คืออะไร เรามาทำความเข้าใจพื้นฐานของเกมกันก่อนดีกว่า การเล่นเกมคือกิจกรรมยามว่างที่หลายคนชื่นชอบ เพราะเล่นแล้วสนุก ตื่นเต้น ผ่อนคลาย และมีเกมมากมายที่สร้างเนื้อเรื่องได้น่าติดตาม จึงไม่แปลกที่ทำให้ผู้เล่นติดงอมแงม และบริษัทผู้พัฒนาเกมทำรายได้มหาศาล มากกว่าอุตสาหกรรมหนังและเพลงรวมกันเสียอีก

แต่คนส่วนใหญ่ก็มักเล่นเกมแล้วไม่มีรายได้กลับคืนมา มีเพียงเกมเมอร์ส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถทำรายได้จากการเล่นเกมได้ด้วยการเทิร์นโปร เป็นนักเล่นเกมมืออาชีพ และเดินสายแข่งขันชิงรางวัล

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนปิ๊งไอเดีย Play to earn ขึ้นมา

-เพื่อเปิดโอกาสสร้างรายได้ให้กิจกรรมสุดโปรดของผู้คนทั่วโลก

-เปลี่ยนทัศนคติคนทั่วไปที่มองว่าเกมเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ เป็น “เล่นเกมแล้วได้เงิน” โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโปรเกมเมอร์

-ใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการระบุความเป็นเจ้าของสินทรัพย์และยืนยันการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้เล่นได้เป็นเจ้าของไอเทมภายในเกมอย่างแท้จริงและซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองได้โดยอิสระ ต่างจากที่เคยเป็นมาในอดีต

ไอเดียและเทคโนโลยีที่ว่าจึงหลอมรวมกันเป็นการหารายได้ออนไลน์รูปแบบใหม่ที่กลายเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลกในช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมา

นิยามของเกม Play to earn คือเกมที่ออกแบบมาเพื่อเน้นการ Earn หรือ “สร้างรายได้” เป็นหลัก ความสนุกเป็นรอง จึงมีการตั้งชื่อเรียกไว้อีกแบบว่า GameFi ที่มาจากคำว่า Game และ Finance นั่นเอง

หลายคนตัดสินใจออกจากงานประจำมาเล่นเกม เพราะมองว่า Play to earn คืองานในฝัน เนื่องจากไม่ต้องทนทำงานแบบเดิมๆ ที่จำเจ แถมยังได้เล่นเกมอีกด้วย สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเกมแนวนี้ก็เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนมากมายต้องตกงาน หรือสูญเสียรายได้ และยังไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกบ้านได้ตามปกติ

เราหาเงินจากเกม Play to Earn ได้อย่างไรบ้าง

โดยปกติแล้วผู้เล่นเกม Play to earn จะได้รับรางวัลจากการทำภารกิจในเกมเป็นโทเคนดิจิทัล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

Fungible token

เงินสกุลหรือเหรียญคริปโทฯ ของเกมที่ใช้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนไอเทมภายในเกมนั้นๆ ซึ่งสามารถนำไปแลกเป็นเหรียญคริปโทฯ ทั่วไปในกระดานซื้อขายได้ หากเป็นเกมดังหน่อย ก็อาจแลกได้โดยตรงที่กระดานประเภท CEX (Centralized Exchange) อย่าง Bitkub หรือ Binance

แต่เงินสกุลของเกมส่วนใหญ่ในวงการนี้มักจะใช้กระดานประเภท DEX อย่าง Pancakeswap หรือ Uniswap เป็นหลัก เนื่องจากมีอิสระในการใช้งานมากกว่า แทบไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือยืนยันตัวตนใดๆ ทั้งนี้ DEX (Decentralized Exchange) ที่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับเครือข่ายที่ผู้พัฒนาเกมว่าอยากจะรันเกมบน BNB Chain หรือ Ethereum Network หรือเครือข่ายอื่นๆ

Non-fungible token (NFT)

รางวัลอีกส่วนที่ผู้เล่นจะได้รับคือ NFT ซึ่งมักจะเป็นไอเทมที่นอกจากจะเอาไว้ใช้งานภายในเกมโดยตรงแล้วยังอาจมีประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ เช่น ถือไว้เพื่อรับเงินรางวัลตามช่วงเวลาที่ผู้พัฒนาเกมกำหนด นำไปผสมกับไอเทมหรือ NFT ตัวอื่นเพื่อเพิ่มความสามารถในเกม และนำไปซื้อขายกับผู้เล่นคนอื่นๆ ในตลาดได้ ยิ่งไอเทมเทพๆ ก็ยิ่งมีมูลค่าสูง

ซึ่งตลาดที่รองรับมีทั้งตลาดภายในระบบเกมนั้นๆ หรือตลาดกลางอย่างเช่น Opensea หรือ tofuNFT เป็นต้น มูลค่าของ NFT จะแปรผันตามประโยชน์ใช้สอยของมันและความนิยมของเกมด้วย แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับความพอใจระหว่างคนซื้อและคนขายว่าจะตกลงราคากันที่เท่าไหร่

จุดเด่นของ NFT คือ เป็นสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัด แต่ละชิ้นไม่สามารถผลิตซ้ำได้ และเจ้าของสามารถระบุกรรมสิทธิ์ได้ชัดเจน เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของเกมแนว Play to earn ด้วยเหตุนี้ Play to earn จึงมีอีกชื่อเรียกว่า NFT game นั่นเอง

ดังนั้น นอกจากโทเคนดิจิทัลที่ผู้เล่นได้รับโดยตรงจากการเล่นแล้ว ยังสามารถนำมาเก็งกำไรเพื่อเพิ่มรายได้ตามความต้องการของตลาดที่ผันผวนได้อีกต่อ เรียกได้ว่า NFT game/GameFi/Play to earn คือ การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีอีกรูปแบบหนึ่ง

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเกม Play to earn คือ คนที่หาเงินได้เยอะมักจะเป็นคนที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่แล้ว NFT ในเกมตัวไหนที่มีราคาสูง ก็จะสร้างรายได้ที่สูงตาม เรียกได้ว่าทุนนิยมกันเต็มที่ แทบไม่ได้ใช้ฝีมือในการเล่นเกมเลย บางเกมแค่ซื้อ NFT ทิ้งไว้แล้วคลิกเข้าร่วมกิจกรรมนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้เงินแล้ว จนมีคนเรียกบางเกมที่เป็นแบบนี้ว่า Click to earn

สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกม Play to Earn

-ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 คือช่วงที่วงการ Play to earn มาถึงจุดพีค จำนวนผู้เล่นของเกมยอดฮิตอย่าง Axie Infinity สูงถึง 2.7 ล้านคนต่อวัน ซึ่งในช่วงนั้น รายได้เฉลี่ยของผู้เล่นอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

-ธุรกรรมจากเกม Play to earn คือธุรกรรมกว่าครึ่งหนึ่งของ DApp หรือ Decentralized Application ทั้งหมดในช่วงปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022

-ผู้เล่นทั่วโลกใช้เงินลงทุนไปกับ NFT ในเกมไปมากกว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2021

-Venture capital เจ้าใหญ่ๆ ลงทุนในเกม Play to earn ไปมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2021 และสำหรับปี 2022 นี้ก็ลงทุนไปแล้วกว่า 2.5 พันล้านเหรียญในไตรมาสแรก ถึงแม้จะเป็นช่วงตลาดขาลงก็ตาม

ช่องทางการเล่น Play to Earn

ในเมื่อการเล่นเกมแนว Play to earn คือการลงทุนอย่างหนึ่ง เกมจึงมักกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เล่นต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนหนึ่งเพื่อครอบครองสินทรัพย์ในรูปแบบ NFT ของเกมนั้นๆ และอาจถึงขั้นที่ต้อง stake หรือวางเงินคริปโทฯ ของเกมตามจำนวนที่กำหนดไปในระบบเสียก่อนจึงจะเริ่มเล่นได้ ยกตัวอย่างขั้นตอนได้ดังนี้

1.แลกเงินคริปโทฯ จากสกุลหลัก เช่น BTC, ETH, USDT เป็นเงินสกุลของเกมนั้นๆ ในกระดานเทรด

2.โอนเงินสกุลที่ได้ไปยัง Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่อกับเกมได้ ซึ่งกระเป๋า Metamask จะเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุด

3.เข้าไปยังเว็บไซต์หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเกมที่ต้องการ

4.ล็อกอินเข้าเกมด้วย Metamask เพื่อสร้างบัญชีผู้เล่นและทำธุรกรรมภายในเกม

5.เลือกซื้อ NFT หรือ Stake เงินไปในระบบ ตามงบประมาณที่มีและตามที่เกมกำหนดไว้เป็นขั้นต่ำสำหรับเริ่มเล่น จากนั้นจึงเริ่มเล่นได้

ตัวอย่างเกม Play to Earn ดังๆ

เกม Play to earn บนโลกนี้มีมากมายจนนับไม่ถ้วน แถมยังได้รับความนิยมแค่เพียงในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน ถึงอย่างนั้นก็มีแค่ไม่กี่เกมที่ยังคงอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงปัจจุบัน เช่น

Axie Infinity

หากจะบอกว่าผู้บุกเบิกเกมแนว Play to earn คือ Axie Infinity ก็คงไม่เกินไปนัก เกมนี้เดิมทีผู้เล่นจะต้องครอบครองตัวมอนสเตอร์ที่เรียกว่า Axie ในรูปแบบ NFT อย่างน้อย 3 ตัว เพื่อให้ครบทีม แล้วออกไปต่อสู้เพื่อทำภารกิจในเกมและรับเงินรางวัล

โดยการต่อสู้แบ่งออกเป็นโหมด PvP ที่สู้กับทีมของผู้เล่นคนอื่นๆ ทั่วโลก และโหมด Adventure หรือ PvE ที่ต้องฝ่าด่านเพื่อเอาชนะมอนสเตอร์มากมายที่ควบคุมโดย AI โดยเงินรางวัลที่ได้จะเป็นเหรียญ SLP แต่ในเวอร์ชันใหม่ที่มีชื่อว่า Axie Infinity Origin นั้นผู้เล่นจะได้รับ Axie ฟรีที่ไม่ใช่ NFT เพื่อให้เริ่มเล่นได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องลงทุน และจะได้รับเงินรางวัลเป็น AXS แทน

ซึ่งทั้ง SLP และ AXS จะเป็นคู่เงินที่ต้องนำมาใช้ในการผสมพันธุ์ Axie โดยเจ้าของสามารถเอามาใช้งานหรือวางขายให้คนที่สนใจได้ แต่ AXS ยังมีฐานะเป็น Governance token ที่ใช้โหวตแนวทางพัฒนาเกม รวมถึงใช้ Stake ในระบบเพื่อรับเงินปันผลได้อีกด้วย

Decentraland

กระแสของ Metaverse ที่เปิดให้คนได้สร้างร่างอวตารของตัวเองแล้วออกไปผจญภัยในโลกเสมือนคือสิ่งที่ทำให้ Decentraland ได้รับความนิยม ซึ่งโลกของเกมนี้เป็นกราฟิกสามมิติที่มีพื้นที่กว้างขวางให้คนออกมาเดินสำรวจและทำกิจกรรมหรือเล่นมินิเกมสนุกๆ ภายในเกม

ซึ่งสกุลเงินที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในเกมคือ MANA เหรียญคริปโทฯ จากเกม Play to earn ที่มี Market cap สูงสุด ณ วันที่เขียนบทความ ทว่ารายได้จากเกมนี้จะไม่ได้เป็นสกุลเงินโดยตรง แต่มาจากการร่วมกิจกรรมภายในเกมเยอะๆ แล้วได้รับรางวัลเป็น NFT ที่สามารถนำไปขายต่อได้ หรือมาจากการสร้าง NFT ขึ้นมาเองแล้วขายในตลาดของเกม นอกจากนี้ยังมีการซื้อขายที่ดินภายในเกม ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ NFT เช่นเดียวกัน

The Sandbox

อีกหนึ่งเกมที่ใช้ Metaverse ในการดึงดูดผู้เล่นและรูปแบบการหารายได้ที่คล้ายคลึงกับ Decentraland แต่โดดเด่นตรงที่ภาพกราฟิกเป็นสไตล์ Voxel ที่ไม่เหมือนเกม Play to earn อื่นๆ มีเครื่องมือสร้าง NFT และมินิเกมที่เข้าใจง่าย ช่วยให้นักออกแบบสามารถสร้างสรรค์โลกในเกมได้สะดวก

ปัจจุบันได้มีแบรนด์รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ดังระดับโลกมากมายเข้าไปลงทุนซื้อที่ดินภายในเกมและร่วม Tie-in สินค้า ไม่ว่าจะเป็น Adidas, Ubisoft, The Walking Dead, Warner Music, Snoop Dogg เป็นต้น โดยเหรียญคริปโทฯ ที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนคือเงินสกุล SAND

ข้อควรระวังในการเล่นเกมประเภท Play to Earn

แม้ว่าจะฟังดูน่าสนใจมากแค่ไหน แต่เราขอเตือนคุณไว้ก่อนว่าเกม Play to earn คือรูปแบบของการลงทุนหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งกว่าการเทรดคริปโตระยะสั้นเสียอีก ซึ่งคุณควรระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้

หลายเกมสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวง

เกมแนว Play to earn จำนวนมากสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาที่ต้องการหลอกเอาเงินลงทุนจากผู้เล่นตั้งแต่แรก โดยอาจสังเกตได้จาก

-ทีมงานที่ไม่เปิดเผยตัวตน ใช้ชื่อปลอม

-การออกแบบ Tokenomics หรือระบบเศรษฐกิจภายในเกมที่ไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้เกมอยู่รอดได้ในระยะยาว

-การทำ Whitepaper หรือเอกสารชี้แจงรายละเอียดให้นักลงทุนที่เหมือนทำแบบขอไปที

-ขาดบริษัทที่น่าเชื่อถือมาตรวจสอบโค้ดของเกมว่ามีความปลอดภัย ไม่น่าโดนแฮ็คหรือหอบเงินหนีไปง่ายๆ

ดังนั้น คุณจึงควรตรวจสอบที่มาที่ไปของทีมงานให้ดีก่อนลงทุน

มีรูปแบบธุรกิจคล้ายแชร์ลูกโซ่

โมเดลธุรกิจของเกม Play to earn ส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่ในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ ที่ใช้เงินของคนที่ลงทุนไปก่อนหน้ามาจ่ายเป็นรางวัลให้คนใหม่ๆ ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในตัวเองและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับบริษัท เมื่อกระแสความนิยมลดลง ไม่มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาลงทุน เกมนั้นก็จะอยู่ไม่ได้เพราะขาดเงินหมุนเวียน และต้องล้มเลิกไปในที่สุด

ทีมงานขาดความเชี่ยวชาญ

ทีมงานที่มาพัฒนาเกม Play to earn มักจะเป็นทีมงานเล็กๆ ที่อาจไม่เคยมีประสบการณ์สร้างเกมใดๆ มาก่อน และไม่เชี่ยวชาญในการวางระบบเศรษฐกิจภายในเกมมากพอ ทำให้เกมเหล่านี้มักจะมีอายุสั้นเพราะขาดความสนุกที่จะดึงดูดให้คนมาเล่นในระยะยาว หรือขาดแรงจูงใจในการลงทุนที่ดีพอ ส่งผลให้ขาดรายได้หล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ

ความคล่องตัวต่ำของ NFT

สินทรัพย์อย่าง NFT นั้นถือว่ามีความคล่องตัวที่ต่ำกว่าสินทรัพย์อื่นๆ อย่าง เหรียญคริปโทฯ หุ้น กองทุนรวม หรือแม้แต่ทองคำ เพราะการซื้อขาย NFT ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก ไม่มีราคากลางที่แน่นอน ซึ่งแม้ว่าคุณจะตั้งขายไว้นานเป็นปีก็อาจยังขายไม่ออก โดยเฉพาะเมื่อมาจากเกมที่หมดความนิยมจนคนเลิกเล่นกันไปเกือบหมดแล้ว

ความเสี่ยงจากการถูกแฮ็ก

ด้วยเหตุที่เกมเหล่านี้รันอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงอาจโดนแฮ็กจากช่องโหว่ไหนก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบั๊กของเครือข่ายอย่าง Ethereum Network, โค้ดของเกมที่เขียนมาไม่รัดกุมพอ, เซิร์ฟเวอร์โดนโจมตี ฯลฯ ซึ่งแฮ็กเกอร์สามารถขโมย NFT และเงินในระบบออกไปขายจนหมดได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

— — — — — -

ศึกษาเรื่อง บิทคอยน์ (Bitcoin), Cryptocurrency และความรู้อีกมากมายในวงการคริปโต กับ Bitkub Exchange ได้ที่ Bitkub Blog

* คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

** สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

*** ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 27 ธ.ค. 65 | อ่าน: 20,266
บทความล่าสุด