บทความ
รู้จัก NFT สินทรัพย์ประเภทใหม่จากเทคโนโลยีบล็อกเชน
นอกจากสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบันทึกข้อมูลและรักษาความน่าเชื่อถือของเครือข่ายแล้ว ยังมีสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ และเกิดจากเทคโนโลยีบล็อกเชนเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ NFT
NFT เรียกได้ว่ากำลังมาแรงสุด ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตเลยทีเดียว โดยมี NFT บางตัวที่ถูกประมูลขายได้หลายสิบล้านบาท ขณะที่ดาราและศิลปินชื่อดังหลายคนก็เริ่มสนใจสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาให้ออกมาในรูปแบบ NFT เช่นกัน
ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสินทรัพย์ประเภท NFT พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าสินทรัพย์ NFT สามารถทำอะไรได้ และมูลค่าของมันมาจากไหน
NFT คืออะไร?
NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token ที่แปลว่า “สินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว” ไม่สามารถลอกเลียนขึ้นมาได้
NFT นับเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภทหนึ่งที่อยู่บนบล็อกเชน คล้ายกับ Bitcoin หรือ Ether (Ethereum) แต่จุดที่แตกต่างกันคือ Bitcoin และ Ether เป็นสินทรัพย์แบบ Fungible ที่ไม่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว จึงนิยมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ คล้ายกับเงินสด ที่แบงค์ร้อย 2 ใบสามารถใช้แทนกันได้ แม้จะมีตำหนิแต่มูลค่าก็ยังคงเท่าเดิม
ในขณะที่ NFT ถูกใช้แทนสิ่งใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น รูปภาพ วีดีโอ ดนตรี อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงของสะสมต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น NFT แต่ละเหรียญจึงแตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้
NFT เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ปัจจุบัน NFT ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum รวมถึงบล็อกเชนรุ่นใหม่ ๆ อย่าง Tezos หรือ Flow ก็สามารถสร้างสินทรัพย์ประเภทนี้ได้เช่นกัน แต่ด้วยความนิยมของ Ethereum ทำให้ NFT ถูกสร้างขึ้นบน Ethereum มากที่สุด
หลักการทำงานของ NFT นั้นเรียบง่ายมาก โดยใน NFT แต่ละตัวจะมีโค้ดพิเศษที่แสดงให้เห็นว่า NFT นี้ใช้แทนสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ วีดีโอ ดนตรี หรือ ที่ดิน เป็นต้น โดยโค้ดพิเศษของ NFT บนเครือข่าย Ethereum จะเรียกว่ามาตรฐาน ERC-721 ขณะที่สกุลเงินดิจิทัลบนเครือข่าย Ethereum จะใช้มาตรฐาน ERC-20 ทำให้หลักการทำงานของสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทแตกต่างกัน
หากมีความเข้าใจในการทำงานของบล็อกเชน และมีกระเป๋า (Wallet) ที่รองรับ ไม่ว่าใครก็สามารถเปลี่ยนผลงานหรือสินทรัพย์ของตนเองให้เป็น NFT และนำไปซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่รองรับ NFT เช่น Opensea หรือ SuperRare เป็นต้น โดยการซื้อขายมักจะใช้สกุลเงินดิจิทัล เช่น Ether เป็นตัวกลางในการซื้อขาย ซึ่งบางครั้งก็มีการประมูล NFT ที่หายากด้วยเช่นกัน
ซื้อ NFT แล้วได้อะไร?
ตลาด NFT กำลังบูมถึงขนาดที่แม้แต่ภาพมีมอย่าง Nyan Cat ก็ถูกเปลี่ยนเป็น NFT และประมูลออกไปมูลค่าถึง 509,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 16 ล้านบาทไทย และยังมีผลงาน NFT อื่น ๆ อีกมากมายที่ได้ขายออกไปเป็นหลักล้าน โดยผลงานที่ขายได้ราคาแพงที่สุด ณ ปัจจุบัน คือผลงานที่ชื่อ Everydays — The First 5000 Days โดยขายไปด้วยมูลค่าสูงถึง 69 ล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่า 2 พันล้านบาทไทย
การซื้อ NFT เปรียบเสมือนการซื้อ “สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ” ในสิ่งที่ถูกแทนด้วย NFT เช่น หากคุณซื้อ NFT ภาพถ่ายมา คุณก็จะได้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของภาพถ่ายนั้น ๆ ถึงแม้ว่าคนอื่นจะยังสามารถดูภาพหรือเซฟภาพนั้นมาเก็บไว้ในเครื่องของพวกเขาได้ก็ตาม
ทีนี้ก็จะเกิดคำถามว่า “ถ้าซื้อมาเป็นเจ้าของแล้ว แต่คนอื่นยังสามารถเห็นภาพนั้นได้ แล้วจะซื้อมาทำไม?
คำตอบคือ เป็นเรื่องของ “มูลค่าทางจิตใจของเจ้าของ” เพราะว่าผู้ที่ได้เป็นเจ้าของ NFT นั้น ๆ จะได้รับการบันทึกชื่อลงในเครือข่าย และทุกคนก็จะสามารถเห็นชื่อของเขาได้ หรือบางครั้งก็อาจเป็นเรื่องของการเก็งกำไร หรือซื้อเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ การซื้อ NFT เปรียบเสมือนกับการซื้อขายที่ดิน เมื่อซื้อขายที่ดินมาแล้ว เราก็จะได้เอกสารโฉนดแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน โดยเอกสารโฉนดนั้นแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงแค่กระดาษหนึ่งใบ แต่สามารถเชื่อถือได้เพราะได้รับการรับรองจากรัฐบาล ขณะที่ NFT มีความน่าเชื่อถือเพราะอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนที่ขึ้นชื่อเรื่องความโปร่งใสและปลอดภัยที่สุดนั้นเอง
นอกจากนี้ ด้วยความที่บล็อกเชนเป็นเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ ตราบใดที่ยังคงมีอินเทอร์เน็ต ข้อมูลบนบล็อกเชนจะไม่หายไปไหนและไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นหลาย ๆ คนจึงต้องการบันทึกชื่อของตนเองลงไปในเครือข่าย เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของผลงาน NFT ที่หายากนั่นเอง
สรุป
NFT คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ “มีลักษณะเฉพาะตัว” จึงมักถูกนำไปใช้แทนรูปภาพ วีดีโอ ดนตรี หรือ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยการซื้อขายสินทรัพย์ประเภท NFT จะเป็นการซื้อขาย “สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ” ใน NFT ตัวนั้น ๆ
โดยถึงแม้ NFT จะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin หรือ Ether แต่มูลค่าของมันก็เกิดจากความต้องการและการยอมรับของผู้คนในเครือข่าย โดย NFT บางตัวก็อาจจะไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเป็นมูลค่าทางจิตใจของผู้เป็นเจ้าของ ขณะที่บางตัวก็อาจสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับบริการหรือสินทรัพย์อย่างอื่นได้นั่นเอง
อ้างอิง: The Verge, KTNV, Opensea
ที่มา:
Medium