บทความ

เงินเฟ้อคืออะไร เตรียมรับมืออย่างไรดี?

image

หากติดตามข่าวเศรษฐกิจในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวในประเทศหรือต่างประเทศ ทุกคนก็น่าจะเห็นข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงป็นประวัติการณ์ในหลาย ๆ ประเทศ อย่างในสหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อพุ่งทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือแม้แต่เงินเฟ้อไทยที่ทำระดับสูงสุดรอบ 13 ปี ส่งผลให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อธุรกิจและประชาชน

แล้วเงินเฟ้อคืออะไร ส่งผลอย่างไรกับการใช้ชีวิต แล้วเราจะมีวิธีรับมือกับมันอย่างไร เรามาดูคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย

เงินเฟ้อคืออะไร?

เงินเฟ้อ (Inflation) คือสภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มแพงขึ้น ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อสินค้าได้น้อยลง หรือหมายความว่าเงินของเรามีมูลค่าน้อยลงนั่นเอง

โดยปกติแล้ว เงินเฟ้อในระดับต่ำถือเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยจากผู้บริโภคที่มองว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้น เลยรีบซื้อตั้งแต่วันนี้ ทำให้ทางฝั่งผู้ผลิตต้องเร่งผลิตมากขึ้น เร่งจ้างงาน และช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโต

แต่ถ้าเงินเฟ้อพุ่งสูงมาก ๆ หรือที่เรียกว่า Hyper Inflation ก็อาจทำให้เกิดผลเสียแทน เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคกลัวว่าในอนาคตสินค้าจะแพงมากจนไม่กล้าใช้จ่าย ผู้ผลิตก็จำเป็นต้องขึ้นค่าแรงให้ลูกจ้างจนตัวเองขาดทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว

สาเหตุของเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามสาเหตุได้ดังนี้

1. Cost-push Inflation คือเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยอาจเป็นผลมาจากราคาน้ำมันหรือวัตถุดิบที่แพงขึ้น หรือค่าแรงสูงขึ้น เป็นต้น

2. Demand-pull Inflation คือเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น ยกตัวอย่าง ช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ความต้องการหน้ากากอนามัยมีสูงขึ้นมาก แต่จำนวนหน้ากากไม่เพียงพอต่อความต้องการ ราคาก็เลยสูงขึ้น เป็นต้น

สำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปี 2022 นี้ มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบเพื่อนำไปสร้างเป็นสินค้าต่าง ๆ ก็สูงขึ้นตาม โดยในช่วงแรกผู้ผลิตอาจพยายามตรึงราคาสินค้าไว้โดยหันไปลดต้นทุนด้านอื่นแทน เช่น ลดกำลังการผลิต หรือลดการจ้างงาน แต่เมื่อไม่สามารถสู้ต้นทุนที่สูงขึ้นได้ก็จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามมานั่นเอง

เมื่อเงินเฟ้อกำลังมา เตรียมรับมืออย่างไรดี?

ถึงแม้แต่ละประเทศจะมีหน่วยงานที่คอยติดตามและออกมาตรการมาควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสำหรับประเทศไทยหน่วยงานนั้นคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์ แต่การจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้นั้นอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ เลยทีเดียว ดังนั้น คนทั่วไปแบบเราจะรับมือเงินเฟ้ออย่างไรดี ลองมาดูวิธีการง่าย ๆ 4 ข้อต่อไปนี้

1.ออมเงินระยะยาว

image

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางของหลายประเทศมักจะใช้วิธีประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อกระตุ้นให้คนอยากนำเงินมาฝากกับธนาคารเพราะจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น จึงเป็นการดึงเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจไม่ให้มีเยอะเกินไป

โดยเราอาจพิจารณานำเงินส่วนหนึ่งไปฝากประจำไว้กับธนาคาร ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะฝากประจำเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 3 ปี เมื่อถึงเวลาก็สามารถพิจารณาว่าจะถอนออกมาหรือฝากต่อก็ได้

2.วางแผนใช้จ่ายอย่างประหยัด

image

หมายถึงการเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และพยายามลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลง เช่น ทำอาหารกินเอง แทนการไปกินข้าวนอกบ้าน เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้เพื่อประหยัดค่าไฟ

นอกจากนี้ การทำบันทึกค่าใช้จ่ายเป็นประจำก็สามารถช่วยให้เราเห็นภาพได้ง่ายขึ้น ว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดออกไปได้บ้าง

3.ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Store of Value

image

จริงอยู่ที่การลงทุนในภาวะเงินเฟ้อมักจะมีความเสี่ยงมากกว่าภาวะปกติ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราเห็นมูลค่าทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงนี้ แต่ถ้าเราสามารถแบ่งเงินส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวได้ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

สินทรัพย์ประเภท Store of Value ได้แก่ แร่เงินและทองคำ เนื่องจากสินทรัพย์ประเภทนี้มีจำนวนจำกัด เป็นที่ต้องการของตลาดเสมอ และมีแนวโน้มที่จะขุดออกมาได้ในยากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ทำให้มันสามารถป้องกันเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ สำหรับคริปโทเคอร์เรนซีเองก็มีอยู่สกุลหนึ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่าถือเป็น Store of Value ด้วยหรือไม่ นั่นคือ Bitcoin (BTC) เนื่องจากบิตคอยน์ก็ถูกสร้างขึ้นมาให้มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ และจะได้มาผ่านการซื้อขายหรือผ่านการขุด ซึ่งการขุดบิตคอยน์ก็จะยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน นอกจากนี้บิตคอยน์ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของสถาบันทางการเงินมากขึ้น จึงเรียกได้ว่ามีคุณสมบัติคล้ายกับทองคำ บางคนจึงเปรียบบิตคอยน์เป็นเหมือน “ทองคำดิจิทัล” นั่นเอง

สรุป

เงินเฟ้อ คือสภาวะที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มแพงขึ้น ทำให้เงินของเรามีมูลค่าน้อยลง หรือเงินจำนวนเท่าเดิมแต่สามารถซื้อของได้น้อยลง

ในสภาวะเช่นนี้การลงทุนจะมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ ดังนั้นเราควรเริ่มจากแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปออมระยะยาว และพยายามลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จากนั้นจึงค่อยพิจารณาเข้ามาลงทุนตามความเสี่ยงที่เราแบกรับไหว โดยเน้นไปที่สินทรัพย์ประเภท Store of Value ก่อน

อ้างอิง Finnomena, SCB, Krungsri

ลงทุน Bitcoin กับ Bitkub Exchange ได้แล้ววันนี้ สมัครเลย: https://www.bitkub.com/signup

*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 07 ก.ค. 65 | อ่าน: 41,868
บทความล่าสุด