บทความ

การประชุม FED คืออะไร ส่งผลกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร?

image

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดคริปโทเคอร์เรนซี นั่นคือการประชุม FED หรือ Federal Reserve ที่เปรียบเสมือนธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา

แล้วการประชุม FED คืออะไร ทำไมการประชุม FED ถึงส่งผลกับตลาดคริปโทฯ เรามาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย!

การประชุม FED คืออะไร?

image

FED หรือ Federal Reserve คือหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา โดย FED จะเป็นผู้ออกนโยบายหลัก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศต้องทำตามนโยบายดังกล่าว ดังนั้น FED ก็คล้าย ๆ กับธนาคารกลางแห่งประเทศไทยนั่นเอง

ทุก ๆ 2 เดือนโดยประมาณคณะกรรมการของ FED จะมีการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า FOMC Meeting ที่นอกจากจะเป็นการหารือและวิเคราะห์สถานการณ์ของเศรษฐกิจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตลาดจับตาจากการประชุมนี้ก็คือ “การปรับอัตราดอกเบี้ย”

อัตราดอกเบี้ยเปรียบเสมือนเครื่องมือสำหรับควบคุมอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งดอกเบี้ยในที่นี้หมายถึงทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ยกตัวอย่าง ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป FED ก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนอยากนำเงินมาฝากไว้กับธนาคารเพราะได้ดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการก็จะไม่อยากกู้เงินมาใช้เพราะต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น จึงเป็นการนำเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้มีปริมาณเงินมากเกินไปจนเกิดเป็นเงินเฟ้อ

ในทางกลับกัน หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย FED ก็จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นให้คนนำเงินออกจากธนาคารมาใช้จ่ายมากขึ้น เพราะฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ยไม่คุ้ม ขณะที่ผู้ประกอบการก็อยากกู้เงินมาทำธุรกิจมากขึ้น เพราะเสียดอกเบี้ยเงินกู้น้อยลง

การประชุม FED ส่งผลกับตลาดคริปโทฯ อย่างไร?

image

การประชุมเฟดครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการเฟดได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนที่กังวลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อกลับมาถือ Bitcoin กันอีกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เนื่องจาก Bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ Bitcoin ยังเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดภาพรวมของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี หากราคา Bitcoin ขึ้น เหรียญอื่น ๆ ก็อาจขึ้นตาม กลับกัน หาก Bitcoin ลง เหรียญอื่น ๆ ก็อาจลงตามเช่นกัน

ดังนั้น จึงสามารถกล่าวแบบรวม ๆ ได้ว่า การประชุมเฟด หากผลออกมาเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Bitcoin ก็น่าจะได้แรงหนุนและมีราคาที่ปรับสูงขึ้นมาได้ ในทางกลับกัน หากประกาศลดดอกเบี้ย Bitcoin ก็น่าจะมีราคาปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นักลงทุนเริ่มมีมุมมองต่อตลาดคริปโทเคอร์เรนซีแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะกับ Bitcoin ซึ่งนักลงทุนส่วนหนึ่งมองว่า Bitcoin เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ขณะที่อีกกลุ่มมองว่า Bitcoin เป็นสินทรัพย์เสี่ยงเพราะว่ามีการเก็งกำไรมากเกินไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงอาจเห็นราคาของ Bitcoin ปรับตัวลดลงได้เมื่อเกิดสัญญาณความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดที่สุดก็คือตอนที่เกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลกระทบให้คริปโทเคอร์เรนซีทั้งตลาดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แต่ไม่ใช่แค่คริปโทฯ เท่านั้น ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลดลงจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเป็นเพราะนักลงทุนที่เน้นการลงทุนแบบเก็งกำไรพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยแทน

ดังนั้น การพิจารณาเข้าซื้อ Bitcoin เพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย อาจพิจารณาเข้าซื้อในช่วงที่การเก็งกำไรลดน้อยลง สังเกตได้จากปริมาณซื้อขาย (Trade Volume) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีโอกาสเข้าซื้อ Bitcoin ในราคาที่แท้จริงของมันมากขึ้น และสามารถถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

สรุป

FED หรือ Federal Reserve เปรียบเสมือนธนาคารกลางสหรัฐฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินต่าง ๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศต้องดำเนินการตาม โดยสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญมากที่สุดจากการประชุมเฟด ก็คือการกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยว่าจะเพิ่ม ลด หรือคงอัตราดอกเบี้ย

โดยทั่วไปแล้ว หากเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังการประชุม ราคาคริปโทฯ ก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีไว้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นักลงทุนจึงเลือกถือคริปโทฯ บางสกุล โดยเฉพาะ Bitcoin เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ในทางตรงกันข้าม หากประกาศลดดอกเบี้ย ราคาคริปโทฯ ก็อาจลดลงได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาผลกระทบอื่น ๆ เช่น นโยบายที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการเก็งกำไรในตลาดว่าอยู่ในระดับสูงหรือไม่

เปิดบัญชีและเริ่มลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีกับ Bitkub เลย: https://www.bitkub.com/signup

*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 07 พ.ค. 65 | อ่าน: 22,984
บทความล่าสุด