บทความ
มุมมองโอกาสของประเทศไทยในยุค Web 3.0 โดยคุณท๊อป จิรายุส
ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจาก Web 2.0 ไปสู่ Web 3.0 ซึ่งจะมาพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจอันมหาศาลสำหรับประเทศที่เข้าใจและพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนี้
ในบทความนี้ เราได้สรุปถ้อยคำของคุณท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับโอกาสของประเทศไทยในยุค Web 3.0 ณ งาน Phuket Metaverse City โดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต
ก่อนจะมาเป็น Web 3.0
เรามาทำความเข้าใจพื้นฐานของ Web 1.0, 2.0, และ 3.0 กันก่อนที่เราจะไปศึกษามุมมองของคุณท๊อป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
Web 1.0 นับเป็นยุคแรกสุดของอินเทอร์เน็ต โดยเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถทำได้แค่ “อ่าน” ข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์เท่านั้น ไม่สามารถโต้ตอบหรือสร้างเนื้อหาบน Web 1.0 ได้ และยังป็น Static Page ที่ผู้ใช้ทุกคนจะเห็นเนื้อหาบนเว็บไซต์เหมือนกันหมด ไม่ต่างอะไรกับการอ่านหนังสือพิมพ์ที่ทำได้แค่อ่านอย่างเดียว
Web 2.0 คือเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน อย่าง Facebook, Twitter, Instagram โดยผู้ใช้สามารถ “สร้าง” หรือ “อัพโหลด” เนื้อหาขึ้นไปอยู่บนเว็บไซต์ได้ เช่น การโพสต์รูปภาพบน Instragram การแสดงความคิดเห็นบน Facebook เป็นต้น นอกจากนี้ Web 2.0 ยังสามารถเรียนรู้การใช้งานของผู้ใช้เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่เข้ากับความต้องการของผู้ใช้ได้ เช่น ถ้าผู้ใช้ชอบฟุตบอล ก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลออกมามากขึ้น หรือถ้าชอบแมว ก็จะมีคลิปวิดีโอหรือภาพแมวออกมามากขึ้น เป็นต้น
Web 3.0 คือยุคที่นำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับประสบการณ์ออนไลน์ โดยมีทั้งเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) VR (Virtual Reality) MR (Mixed Reality) และ Metaverse ที่จะทำให้การท่องอินเทอร์เน็ตไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในกรอบสี่เหลื่อมของหน้าจอมือถืออีกต่อไป ซึ่งนั่นคือเบื้องหน้า แต่เบื้องหลังนั้นจะมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน คริปโทเคอร์เรนซี และ NFT เพื่อให้การซื้อขายและแลกเปลี่ยนแบบออนไลน์สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และสามารถทำธุรกรรมแบบ Micro-transaction ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าในอนาคต สัดส่วนของเศรษฐกิจจะกลายเป็นแบบ Digital มากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจ Physical จะค่อย ๆ ลดขนาดลงมา
โอกาสของประเทศไทยในยุค Web 3.0
ที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่เปิดรับเทคโนโลยีได้ดีมาก โดยเฉพาะในยุค Web 2.0 สังเกตได้จากการที่คนไทยเกือบทุกคนมีบัญชีโซเชียลมีเดีย มีโทรศัพท์มือถือ และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในอาเซียนที่เปิดรับเทคโนโลยีได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในยุค 2.0 ประเทศไทยกลับเป็นได้แค่ผู้ใช้เทคโนโลยี (User of Technology) แต่ไม่ใช่ผู้มอบเทคโนโลยี (Provider of Technology) เห็นได้จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่คนไทยใช้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Youtube, Lazada, Shopee, Netflix ทั้งหมดล้วนเป็นแพลตฟอร์มที่มาจากต่างชาติ ไม่ใช่แพลตฟอร์มของคนไทยเลย
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่าบริษัทหรือแพลตฟอร์มที่ยกตัวอย่างมานี้ ล้วนเป็นแพลตฟอร์มที่มีมูลค่าตลาดสูงมาก โดยเฉพาะ Facebook ที่มีมูลค่าสูงกว่าบริษัทในตลาดหุ้นไทยทั้งตลาดรวมกันเสียอีก นั่นเป็นเพราะพวกเขาเข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับได้ทัน
สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนไทยสามารถเป็นผู้มอบเทคโนโลยีได้ ก็คือการทำความเข้าใจแนวคิดใหม่ของโลก ไม่ใช่การเรียนรู้และทำตามสิ่งเก่า ๆ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้พัฒนาไปเร็วมาก ยกตัวอย่าง Facebook ที่พวกเขายอมทิ้งชื่อเดิมที่ทุกคนรู้จักกันดีเพื่อเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta และหันมามุ่งมั่นพัฒนา Metaverse กับ Web 3.0 อย่างเต็มที่ นี่ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางธุรกิจครั้งใหญ่มาก เนื่องจากพวกเขาเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ Metaverse ต้องมาอย่างแน่นอน
การที่ประเทศไทยจะสามารถสร้างบริษัทหรือแพลตฟอร์มที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีระดับโลกได้ อันดับแรกต้องเริ่มจากศึกษา เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ และต่อมาคือการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ควรมีความรู้ความเข้าใจและพร้อมออกนโยบายสนับสนุนการพัฒนาของเทคโนโลยี หากสามารถทำได้ก็จะเป็นการดึงรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นพร้อมแข่งขันในระดับโลก
ท้ายที่สุดนี้ บิทคับมุ่งหวังจะเป็นสะพานอันแข็งแรงที่สร้างขึ้นด้วยฝึมือคนไทย เพื่อเชื่อมผู้คนไปสู่โลกอนาคตเพื่อเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประเทศให้ขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกดิจิทัล อีกทั้งให้คนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงการลงทุนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก บิทคับขอขอบคุณลูกค้าและพันธมิตรของเราสำหรับการสนับสนุนที่ดี และเราสัญญาว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริการและความปลอดภัยที่ดีที่สุดต่อไป
ที่มา:
Medium