บทความ

Ethereum 2.0 จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการ Blockchain

image

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Ethereum 2.0 บล็อกเชนเวอร์ชันที่พัฒนาต่อจาก Ethereum 1.0 มาจาก Blockchain ที่ยังไม่ได้มีการใช้งานที่แพร่หลายเท่าที่ควร เนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดทางเทคนิคบางอย่างอยู่ โดยหนึ่งในข้อจำกัดดังกล่าวก็คือ เรื่องของความเร็วในการประมวลผล ซึ่งยังถือว่ายังด้อยกว่าระบบที่ยังอาศัยตัวกลางในการเก็บข้อมูล รวมถึงข้อจำกัดทางด้าน Hardware ที่ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายได้

การมาถึงของระบบ Ethereum 2.0 คือสิ่งที่อาจเป็นตัวพลิกเกมสำหรับวงการเหรียญดิจิทัลเลยก็ได้ โดยเราจะพาคุณไปทำความรู้จักจุดเด่นที่น่าจับตามองของ Ethereum 2.0 รวมไปถึงดูว่ามีขั้นตอนในการพัฒนาแบบไหน และจะส่งอย่างไรบ้างต่อเหรียญ ETH ในอนาคต

อะไรที่ทำให้ Ethereum ได้ชื่อว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ของโลก?

Ethereum คือแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนทำงานอยู่เบื้องหลัง โดยมีเหรียญ ETH เป็นสกุลเงินดิจิทัลประจำแพลตฟอร์มและทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมบนเครือข่าย Ethereum ที่ต่อจากนี้เราจะขอเรียกว่า Ethereum 1.0

Vitalik Buterin คือผู้ให้กำเนิด Ethereum 1.0 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2015 โดยแพลตฟอร์มนี้มีจุดเด่นที่การประยุกต์ใช้ Smart Contact เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างหลากหลาย ด้วยการใช้ Smart Contract ที่เปรียบได้กับชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โปรแกรม” ซึ่งดำเนินการทุกอย่างตามที่ระบุเงื่อนไขเอาไว้ได้ด้วยตัวเองทั้งหมด

โดย Ethereum 1.0 เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาเข้ามาแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Applications — dApps) ได้ ตลอดจนการทำธุรกรรมแบบไม่ผ่านตัวกลางในรูปแบบต่างๆ เช่น การกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การระดมทุน (ICO) และยังสามารถใช้เป็นพื้นฐานหลักของการปรับโครงสร้างขององค์กรมาสู่รูปแบบดิจิทัลได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralized Finance (DeFi) ที่สามารถใช้งานได้บนเครือข่าย Ethereum ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนใช้งานสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผ่านช่องทางสมาร์ตโฟนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต นี่คือเหตุผลว่าทำไม Ethereum จึงได้ชื่อว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ของโลกที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน

Ethereum 2.0 คืออะไร

Ethereum 2.0 หรือ ETH 2.0 คือเครือข่ายบล็อกเชนเวอร์ชันอัปเกรดของ Ethereum ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครือข่ายให้รวดเร็วขึ้น ปลอดภัยกว่า รองรับการทำธุรกรรมได้มากกว่า และช่วยลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ถูกกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการลบข้อด้อยที่เป็นปัญหาหลักของ Ethereum ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง

โดยหนึ่งในปัจจัยที่ค่อนข้าง “จำกัดความสามารถ” ในการประมวลผลของระบบ Blockchain รุ่นแรกๆ อย่าง Bitcoin และ Ethereum คือการพึ่งพาระบบที่เรียกว่า Proof-of-Work (แปลตรงตัวได้ว่าหลักฐานจากการปฏิบัติงาน) (PoW) เพื่อรับรองและบันทึกการทำธุรกรรม ซึ่งเป็นระบบที่ใช้พลังงานและทรัพยากรในการประมวลผลอย่างมหาศาลจากเหล่านักขุดทั่วโลก

แต่ด้วยกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงทรัพยากรที่ใช้ไปโดยเฉพาะ “ไฟฟ้า” ที่ค่อนข้างสร้างภาระให้กับนักขุดและอาจส่งผลไปถึงสภาพแวดล้อมโดยรวม Ethereum 2.0 จึงหันมาใช้ระบบ Proof-of-stake แทน (แปลตรงตัวได้ว่าหลักฐานในการถือครอง)

การเปลี่ยนมาใช้ระบบ Proof-of-stake (PoS) นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของวงการ Blockchain โดยรวม ซึ่งระบบ PoS คือการที่ Algorithm ของเครือข่ายจะสุ่มเลือกผู้ตรวจสอบหรือ Validator ขึ้นมาหนึ่งเครื่องเพื่อตรวจสอบธุรกรรมหนึ่ง แทนที่จะให้นักขุดนับล้านช่วยกันตรวจสอบให้เปลืองพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์แบบ PoW

ซึ่งการที่จะเป็นผู้ตรวจสอบได้นั้นก็ต้องมีการถือครองเหรียญให้ถึงขั้นต่ำที่กำหนดไว้เสียก่อน (ปัจจุบันขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ที่ 32 ETH) สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ตรวจสอบสามารถสร้าง Passive Income ได้ด้วยการช่วยประมวลผลธุรกรรมในระบบ ทำให้มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นผู้ตรวจสอบในเครือข่ายเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

แผนการพัฒนาของ Ethereum 2.0 ในอนาคต

เนื่องจากแผนการพัฒนา Ethereum 2.0 นั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เราจึงขอแบ่งออกมาให้คุณได้เห็นถึง 3 ช่วงของการพัฒนาไปสู่ Ethereum 2.0 ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ทั้งด้านความปลอดภัย ความเร็ว และรองรับการใช้งานของผู้ใช้ได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกมาก โดยมีขั้นตอนดังนี้

-Beacon Chain

การพัฒนาโปรเจกต์นี้เริ่มด้วยการสร้างเครือข่ายแยกของ Ethereum 2.0 ที่เรียกว่า Beacon Chain เพื่อทดสอบการทำงานของระบบ PoS อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ที่อยากเป็น Validator จะต้องล็อกเหรียญขั้นต่ำ 32 ETH ไว้ในระบบ หรือจะเข้าร่วมด้วยการฝากเข้า Staking Pool ในจำนวนที่น้อยกว่าขั้นต่ำก็ได้ และหากเกิดปัญหาอะไรก็ตามบน Beacon Chain จะไม่ส่งผลต่อเครือข่ายหลัก (Mainnet) เลยแม้แต่น้อย

-The Merge

The Merge คือการเอาเครือข่ายหลักของ Ethereum นำมารวมกับ Beacon Chain ที่เป็นเครือข่ายแยกของ Ethereum เพื่อให้ระบบ PoS สามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบและแทนที่การขุดแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง นั่นหมายความว่าผู้ใช้สามารถฝากหรือถอนเหรียญที่มีอยู่ในระบบตอนไหนหรือเมื่อไรก็ได้ ขณะเดียวกัน การใช้งาน Smart Contract ยังสามารถเริ่มใช้งานได้ในเฟสนี้ด้วย

-Shard Chains

Shard Chains ของ Ethereum 2.0 คือ การแบ่งข้อมูลทั้งหมดที่อยู่บนเครือข่ายออกเป็น 64 ส่วน เพื่อให้เครือข่ายสามารถประมวลผลแบบขนาน (Parallel Processing) ได้ ส่งผลโดยตรงต่อเวลาตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมที่สามารถทำได้รวดเร็วขึ้นถึง 1,000 ธุรกรรมต่อ 1 วินาที เทียบกับของเดิมที่ 15 ธุรกรรมต่อ 1 วินาที จะเห็นได้ว่าปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น Shard Chains ยังทำให้เครือข่าย Ethereum 2.0 รองรับจำนวนผู้ใช้งานได้มากขึ้นกว่าเดิม แถมผู้ใช้ยังไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์สเปกแรงๆ แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมกับเครือข่ายได้มากขึ้น และเป็นการสนับสนุนให้ Ethereum 2.0 มีความเป็นแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยตามเป้าหมายในการพัฒนาอย่างแท้จริง

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องเกี่ยวกับ Ethereum 2.0 ก็คือ เครือข่ายบล็อกเชนรูปแบบใหม่นี้ได้กลายเป็นพื้นฐานให้กับเทคโนโลยีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา dApps รวมถึง Smart Contract ที่ได้รับความนิยมในการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์มากขึ้น เหล่านี้ทั้งหมดล้วนส่งผลดีต่อเทคโนโลยี Smart Contract และ Blockchain ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

— — — — — — -

เรียนรู้เรื่อง บิทคอยน์ (Bitcoin) และ Cryptocurrency ช่วยให้คุณเข้าใจโลกของคริปโทฯ ได้ดีขึ้น ที่ Bitkub Blog และหากคุณยังเป็นมือใหม่ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ “แหล่งความรู้ มือใหม่หัดเทรดคริปโต

* คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

** สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

*** ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Preeyapa Taweewikyagan | 18 พ.ย. 65 | อ่าน: 2,739
บทความล่าสุด