บทความ
ทำไม Ethereum 2.0 ถึงน่าจับตา!?
Ethereum 2.0 ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเวลามากกว่า 1 ปี ผ่านการเลื่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดก็มีประกาศออกมาแล้วว่า Mainnet ของ Ethereum 2.0 จะเปิดตัวในวันที่ 1 ธ.ค. 2020
แน่นอนว่าตลาดยินดีกับความคืบหน้าครั้งนี้กันเป็นอย่างมาก เนื่องจากการอัพเกรดเป็น Ethereum 2.0 ครั้งนี้จะมาแก้ไขปัญหาที่ค้างคามาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องของความล่าช้าในการประมวล และข้อจำกัดต่างๆที่ทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น
สำหรับบทความนี้ เรามาดูกันว่า Ethereum 2.0 จะมาพร้อมกับอัพเดทอะไรบ้างที่น่าสนใจบ้าง
1.จาก Proof-of-Work สู่ Proof-of-Stake
เดิมที Ethereum ใช้ระบบที่เรียกว่า Proof-of-work เหมือนกับ Bitcoin หรือบรรดาบล็อกเชนรุ่นเก่าๆ ซึ่งระบบนี้มีปัญหาเกี่ยวกับความล่าช้าในการประมวลผลและกินพลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล Ethereum 2.0 เลยเปลี่ยนมาใช้ Proof-of-Stake ให้คนในเครือข่ายเปลี่ยนถือครองเหรียญแทนการขุด ยิ่งถือเหรียญมากก็มีโอกาสได้รับสิทธิ์เป็นผู้เพิ่มบล็อกใหม่ลงไป โดยระบบจะเป็นผู้สุ่มเลือกเอง จึงไม่จำเป็นต้องขุดแข่งกันอีกต่อไป ทำให้สามารถลดเวลาและลดพลังงานที่ใช้ลงไปได้อย่างมาก
นอกจากนี้ ผู้ถือเหรียญ ETH ยังสามารถเลือกที่จะทำการ Stake เหรียญลงไปในเครือข่ายเพื่อร่วมเป็น Validators ช่วยยืนยันธุรกรรมและรับเหรียญ ETH เป็นรางวัลตอบแทนได้อีกด้วย โดยจำนวนเหรียญ ETH ขั้นต่ำที่เครือข่ายกำหนดไว้อยู่ที่ 32 ETH
2.ระบบ Sharding
อีกข้อจำกัดหนึ่งของบล็อกเชนแบบ Proof-of-work คือความเร็วในการประมวลผลของเครือข่ายโดยรวมจะถูกจำกัดอยู่กับ Node ที่ช้าที่สุดของเครือข่าย จึงเกิดแนวคิดที่จะนำระบบ Sharding มาใช้กับ Ethereum 2.0 โดยจะเป็นการแบ่ง Node ออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อกระจายข้อมูลให้ช่วยกันยืนยัน ไม่จำเป็นต้องให้ทั้งเครือข่ายช่วยกันยืนยันข้อมูลตัวเดียวพร้อมๆกัน เรียกว่าเป็นการประมวลผลแบบ Parallel Processing
3.แทนที่ EVM ด้วย eWASM
EVM หรือ Ethereum Virtual Machine เป็นระบบปฏิบัติการบนเครือข่าย Ethereum ที่สามารถใช้เขียน Decentralized Application (dApps) ที่ใช้ Smart Contract ขึ้นมาบนเครือข่ายได้ เปรียบเทียบได้กับระบบปฏิบัติการอย่าง Window หรือ Linux
แต่ EVM กลับมีข้อจำกัดในเรื่องของภาษาโปรแกรมที่ใช้ คือต้องเป็นภาษาเฉพาะของ Ethereum เท่านั้น นั่นจึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้นักพัฒนาบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายได้
ดังนั้น พอมาเป็น Ethereum 2.0 ผู้พัฒนาจึงแนะนำเครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า eWASM หรือ Ethereum WebAssembly ที่สามารถรองรับภาษาโปรแกรมทั่วไปอย่าง C, C++, และ Rust ได้ หมายความว่าเหล่านักพัฒนาก็จะสามารถเข้าถึง Ethereum 2.0 ได้มากขึ้น จึงอาจเกิดนวัตกรรมหรือ Application ใหม่ๆที่สร้างบน Ethereum 2.0 มากขึ้นนั่นเอง
กระแสตอบรับ Ethereum 2.0
ก่อนที่ตัว Mainnet ของ Ethereum 2.0 จะสามารถใช้งานได้อย่างเป็นทางการ Mainnet ของ Ethereum 2.0 จำเป็นต้องมี Validators เข้ามา Stake เหรียญอย่างน้อย 16,384 ราย หมายความว่าต้องมีเหรียญ ETH อยู่ใน Mainnet ใหม่อย่างน้อย 524,288 เหรียญ (ปัจจุบันมีเหรียญ ETH อยู่ในตลาดประมาณ 113 ล้านเหรียญ) หากมี Validators ครบตามข้อกำหนดอย่างน้อย 7 วันก่อนถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2020 ตัว Mainnet ก็จะสามารถเปิดตัวได้ตามกำหนด ซึ่งผู้พัฒนา Ethereum 2.0 ตั้งชื่อการเปิดตัวของ Mainnet นี้ว่า Ethereum Genesis
ในกรณีที่มี Validators ไม่ครบขั้นต่ำ การเปิดตัว Mainnet ก็จะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะมี Validators ครบ พอมี Validators ครบเมื่อไหร่ Mainnet ก็จะสามารถเปิดตัวได้หลังจากนั้น 7 วัน
ล่าสุด ตามข้อมูลจาก Cointelegraph ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2020 พบว่ามีการ Stake เหรียญ ETH ลงใน Mainnet ของ Ethereum 2.0 ไปแล้ว 50,849 เหรียญ คิดเป็นเกือบๆ 10% ของยอดขั้นต่ำที่ต้องการ ซึ่งเป็นเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์หลังจากทางผู้พัฒนาประกาศเปิด Deposit Contract ของ Ethereum 2.0 เท่านั้น
ขณะที่รายงานจาก Ethereum World News เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา พบว่าจำนวน Wallet ที่เพิ่มการถือครองเหรียญ ETH สูงกว่า 32 เหรียญได้เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ All-Time-High ที่ 125,540 Wallets
สรุป
การมาของ Ethereum 2.0 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญสำหรับวงการบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี เพราะจะเป็นการอัพเดทเครือข่ายบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยฟีเจอร์สที่เพิ่มเข้ามาใหม่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาที่ค้างคามานานอย่างเรื่องของ Scalability และเปิดโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของ Ethereum ได้นั่นเอง
คุณเองก็สามารถเป็นเจ้าของเหรียญ https://www.bitkub.com/
ซื้อ Ethereum กับ Bitkub คลิกที่นี่
อ้างอิง: Ethereum Blog, Ethereum World News, Tech Radar, Cointelegraph
บทความที่คุณอาจสนใจ
ขุด Bitcoin ทำอย่างไร? มาดูกัน!
ทิศทาง Bitcoin หลังศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ