บทความ
รวมข่าวคริปโตรายสัปดาห์: เฟดมั่นใจคุมเงินเฟ้ออยู่, Cardano เลื่อน Vasil Hard Fork
เรารวบรวมข่าวเด่นในวงการคริปโทเคอร์เรนซีและบล็อกเชนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มาให้อ่านกันที่นี่แล้ว ไปดูกันเลย!
*เนื้อหาต่อไปนี้เป็นการนำข่าวสารย้อนหลังตลอดช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศมาเรียบเรียงและสรุปให้เข้าใจง่าย ไม่ได้เป็นการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด
===================
1.Powell มั่นใจ เฟดคุมเงินเฟ้ออยู่
Jerome Powell ประธาน Federal Reserve ขึ้นกล่าวรายงานกับสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ โดยระบุว่า FED มุ่งมั่นที่จะนำอัตราเงินเฟ้อลงมาให้ได้ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าเฟดสามารถทำได้ผ่านการใช้นโยบายทางการเงิน ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป
ทาง Powell ยังได้กล่าวอีกว่า นโยบายการเงินแบบคุมเข้มจะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการรับมือกับอัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจก็อยู่ในตำแหน่งที่สามารถรองรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เขาได้เตือนว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลต่อราคาอาหารและน้ำมันที่สูงขึ้นได้
ที่มา CBNC
===================
2.Cardano เลื่อน Vasil Hard Fork ออกไปเป็นปลายเดือน ก.ค
Input output Hong Kong (IOHK) บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเครือข่าย Cardano ประกาศเลื่อน Vasil Hard Fork ออกไปเป็นเวลา 1 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดการในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ โดยเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
โดยทาง Nigel Hemsley หัวหน้าฝ่าย Delivery and Project กล่าวผ่านบล็อกของเขาว่า “ทางทีม Input Output Global (IOG) กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อทำให้การ Hard Fork ครั้งนี้ออกมาดีที่สุด แต่ยังมีบั๊กหลงเหลืออยู่อีกประมาณ 7 ตัวที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แม้ว่ามันจะไม่ใช่บั๊กที่ร้ายแรงอะไรก็ตาม”
ทั้งนี้ Vasil Hard Fork นับเป็นอีกหนึ่งการอัพเกรดครั้งใหญ่ของ Cardano นับตั้งแต่ Alonzo Hard Fork เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน โดยจะเป็นการอัพเกรดที่นำ CIP31, CIP32, CIP33, และ CIP40 มาใช้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดขนาดของธุรกรรมเพื่อเพิ่มจำนวนธุรกรรมที่บล็อกหนึ่งสามารถรองรับได้ และลดค่าธรรมเนียมลงอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา Cointelegraph
===================
3.Meta เตรียมทดสอบ NFT บน IG Stories
Meta บริษัทแม่ของ Instagram ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าจะนำ NFT มาทดลองใช้บน Instagram Stories ผ่านแพลตฟอร์ม Spark AR
ทาง Mark Zuckerberg CEO ของ Meta ระบุว่า “เราจะขยายการทดสอบเพื่อให้เหล่าครีเอเตอร์ทั่วโลกสามารถนำ NFT มาแสดงบน Instagram ได้ นอกจากนี้ เหล่าครีเอเตอร์ยังสามารถแบ่งปันของสะสมดิจิทัลผ่าน Facebook และ Instagram ได้ เมื่อฟีเจอร์ดังกล่าวเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ” คำพูดดังกล่าวของ Mark เป็นการยืนยันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ Facebook ก็จะสนับสนุน NFT ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ทาง Meta ยังเตรียมร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Adobe, Epic Games, Microsoft, Nvidia และ Qualcomm เพื่อร่วมพัฒนาคอนเทนต์บน Metaverse ในอนาคตอีกด้วย
ที่มา Cointelegraph
===================
4.นักขุดพากันขาย Bitcoin ที่ขุดได้ในเดือนพฤษภาคม
รายงานจาก Arcane research แสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางภาวะปรับฐานของตลาด Cryptocurrency ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน บริษัทขุด Bitcoin ระดับมหาชนได้เทขาย Bitcoin ที่ขุดได้ในเดือนพฤษภาคมทั้งหมด 100% ถ้าเทียบกับปกติที่มักจะขายเพียง 20–40%
การเทขายของนักขุดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงในช่วงนี้ โดยในภาพรวมนักขุดมีการถือครอง Bitcoin รวมกันประมาณ 800,000 เหรียญ ขณะที่บริษัทระดับมหาชนที่ขุด Bitcoin ถือรวมกันประมาณ 46,000 เหรียญ
ที่มา Cointelegraph
===================
5.Chainalysis เปิดตัวบริการสายด่วนที่ปรึกษาด้านคริปโทฯ
บริษัทด้านการวิเคราะห์ข้อมูลบล็อกเชนอย่าง Chainalysis เปิดตัวบริการ Crypto Incident Response Program ที่เป็นบริการสายด่วนแบบ 24 ชั่วโมง คอยให้ความช่วยเหลือบริษัทหรือองค์กรที่ถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์หรือ Ransomware เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถกู้เงินของพวกเขากลับมาได้
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Chainalysis ยังแสดงให้เห็นว่า ในปีที่ผ่านมาการใช้งานคริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกกฎหมาย แม้จะมีปริมาณที่มากกว่าการใช้งานแบบผิดกฎหมายที่มีเพียง 0.15% จากธุรกรรมทั่วโลก แต่การโจมตีเพื่อหวังขโมยคริปโทเคอเรนซี่ผ่านการแฮกหรือแรนซั่มแวร์ยังคงมีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2019 และ 2020 มูลค่าที่ถูก Ransomware โจมตีไปมีอยู่ระหว่าง 114 ล้าน — 728 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็ค่อนข้างทรงตัวในปี 2022 นี้เช่นกัน
ที่มา Decrypt
===================
6.Polygon เปิดตัวการยืนยันตัวตนแบบใหม่
Polygon ที่เป็น Layer 2 ของ Ethereum ประกาศเปิดตัว Polygon ID ระบบยืนยันตัวตนแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี Zero-Knowledge-Proof ทำให้ผู้ใช้สามารถยืนยันตัวตนและความถูกต้องของข้อมูลโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดย Polygon ระบุว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและใช้งาน dApps กับ DeFi รวมถึงการโหวตผ่านระบบ DAO
นอกจากนี้ นักวิเคราะยังมองว่า Polygon เป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะใช้ระบบฉันทามติแบบ Proof-of-Stake แล้ว ยังร่วมมือกับ KlimaDAO เพื่อลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครือข่ายให้เป็นศูนย์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจช่วยให้เครือข่ายรอดพ้นจากการเพ่งเล็งของหน่วยงานกำกับดูแลของหลาย ๆ ประเทศที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้พลังงานในการขุดคริปโทเคอร์เรนซีได้
ที่มา Coindesk
===================
7.Solana Labs เปิดตัวมือถือที่ใช้ร่วมกับ Solana Blockchain โดยเฉพาะ
Solana Labs เปิดตัวโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ชื่อรุ่น Saga ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับบล็อกเชนของ Solana, Web3 และ Cryptocurrency โดยเฉพาะ พร้อมตั้งเป้าว่าจะวางขายอย่างเป็นทางการภายในปี 2023
ในงานเดียวกันนี้ Solana Labs ยังเปิดตัว Solana Mobile Stack (SMS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่นักพัฒนาสามารถใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชันบนเครือข่าย Solana ที่สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android รวมถึงระบบปฏิบัติการอื่น ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมี Seed Vault ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับจัดเก็บ Private key, Seed phrase และข้อมูลที่มีความสำคัญให้ปลอดภัยบนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ
ที่มา Decrypt
===================
8.eBay ซื้อ KnownOrigin เตรียมขยายบริการด้าน NFT
eBay บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ประกาศเข้าซื้อ KnownOrigin สตาร์ตอัปที่ให้บริการตลาดซื้อขาย NFT โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ศิลปินและนักสะสมสามารถสร้าง ซื้อ และขาย NFT ผ่านบล็อกเชนได้
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา eBay ได้เปิดให้ผู้ใช้สามารถซื้อขาย NFT ผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นช่วงที่ NFT กำลังได้ความนิยมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เป็นการตอกย้ำว่า eBay มีความสนใจที่จะขยายบริการด้านคริปโทเคอร์เรนซีและบล็อกเชนต่อไป
ที่มา Cointelegraph
===================
ติดตามบทความ ข่าวสาร และความรู้ที่น่าสนใจในวงการคริปโตได้ที่ Bitkub Academy
เปิดบัญชีและเริ่มลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีกับ Bitkub Exchange เลย: https://www.bitkub.com/signup
*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน
ที่มา:
Medium