บทความ
Bitkub Tech Challenge มากกว่าหาผู้ชนะ คือการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่เข้าสู่แวดวง Blockchain
เมื่อวันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา บริษัท บิทคับ แคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด พร้อมบริษัทในเครือ ได้จัดงาน Bitkub Tech Challenge รอบชิงชนะเลิศ ณ อาคารเอฟวายไว เซ็นเตอร์ เพื่อเฟ้นหา Developer รุ่นใหม่เข้าสู่แวดวง Blockchain Technology หลังผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 179 คนและมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 53 คน
เริ่มงานช่วงเช้าด้วยการเปิดลงทะเบียนผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย เพื่อร่วมทำการเวิร์คช็อปการเขียน Smart Contract กับ คุณนิค ฐิติพงษ์ กรุงแก้ว Co-CTO & CIO (Chief Innovation Officer) จากบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
หลังจากเสร็จกิจกรรมเวิร์คช็อปช่วงเช้าแล้ว น้องๆทั้ง 53 คน ได้พักผ่อนเพื่อเตรียมเข้าสู่การแข่งขันในช่วงบ่าย ซึ่งก่อนเข้าแข่งขันรอบสุดท้ายนั้นได้มีการเปิดงานอย่างเป็นทางการ และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานในช่วง Hello World Session โดยได้รับเกียรติจากคุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า Bitkub Tech Challenge เกิดขึ้นมาเพื่อค้นหาคนรุ่นใหม่สายเทคและนักพัฒนาซอฟท์แวร์ เพื่อให้รู้จักและเข้าใจในบล็อกเชนมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ยังขาดบุคคลากรอยู่มาก และบิทคับก็หวังที่จะเป็นบริษัทที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่และสร้างบุคคลากรด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนให้กับประเทศไทย
ต่อด้วยการเสวนาจากผู้บริหารของบิทคับเพื่อให้น้อง ๆ ได้ทราบถึงภาพรวมการทำงานที่บิทคับ การผลักดันและพัฒนาคน รวมถึงวิถีชีวิตแบบสตาร์ทอัพ ตั้งแต่การรวมทีมสร้างธุรกิจ และการทำงาน โดย คุณต้น สกลกรย์ สระกวี ประธานบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, รวมถึง คุณเค อรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ CEO และคุณกอล์ฟ นิธิวัฒน์ มณีสินธุ์ CTO แห่งบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
และเซอร์ไพรส์พิเศษจากนักพัฒนารุ่นพี่ คุณชานนท์ ย่าคล้าย ตัวแทนจากทีม KillSwitch ทีมผู้ชนะเลิศการแข่งขัน SCB 10X BANGKOK BLOCKATHON 2021 ได้มาแชร์ประสบการณ์ในการแก้โจทย์การแข่งขันรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานจริง
หลังจากที่น้อง ๆ ทั้ง 53 คนได้เข้าเวิร์คช็อปในช่วงเช้าและได้รับแนวคิดดีๆจากช่วง Hello World แล้วนั้น การแข่งขันก็เริ่มขึ้นในช่วงบ่ายโดยมีโจทย์ให้ผู้แข่งขันในธีม Bitkub Detective ซึ่งมีโจทย์ว่า ทางบิทคับได้รับเบาะแสว่า มีลูกค้าชื่อนาย ABC ได้นำเงินที่ได้มาอย่างผิดกฏหมาย มาดำเนินการซื้อเหรียญ XXX บนเว็บไซต์บิทคับ และทำการโยกย้ายเหรียญออก Wallet ของเว็บไซต์ไปยัง Wallet ภายนอก จึงอยากให้ทางบิทคับตรวจสอบว่า นาย XXX ได้มีการโอนย้ายเหรียญออกไปที่ใดบ้างและมูลค่าเป็นจำนวนเท่าใด จึงมีโจทย์ทำการพัฒนาโปรแกรมเพื่อสืบหาเส้นทางการทำธุรกรรมบน Ethereum network (Ropsten testnet) โดยแสดงผลลัพท์ดังต่อไปนี้
รายการ Transaction ทั้งหมดที่มีการโอนเหรียญ XXX ประกอบด้วย Transaction Hash, Wallet Address ต้นทาง, Wallet Address ปลายทาง และจำนวนเหรียญที่อยู่ในธุรกรรมของเหรียญ XXX
รายการสรุปยอด Ending Balance ของแต่ละ Wallet ต้องสงสัย ที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการโอนเหรียญ
หลังจากผ่านไปกว่า 4 ชั่วโมง ทางคณะกรรมการได้ตรวจคำตอบเพื่อหาผู้ชนะ ระหว่างรอประกาศผลรางวัล ทางบิทคับได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนมาเป็นแขกผู้มีเกียรติขึ้นกล่าว Inspirational Speech ให้ข้อคิดและกำลังใจแก่น้องๆ โดยมีคุณสำเร็จ วจนเสถียร Tech Director บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด, คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, และ Mr. Guillaume Le Saint, CEO แห่ง Atato Thailand
และก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย หลังจากที่คณะกรรมการใช้เวลาร่วมสองชั่วโมงในการตัดสินหาผู้ชนะ ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะการแข่งขันดังต่อไปนี้
1) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายปิยวัฒน์ อำนวยผลเจริญ (ธรรศ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัล 0.1 BTC
2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ นายกองทัพ อรุณรักษ์วิลาส (อาร์ม) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัล 0.04 BTC
3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ นายอินทัช ยุตินทร (คีย์) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับรางวัล 0.03 BTC
4) รางวัลชมเชย ได้แก่ นายนิธิภัทร์ ตันติเจริญวิวัฒน์ (ภัทร์) ภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสรธันย์ กฤตวีรนันท์ (บูม), ภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสุพศิน ลิ่วลักษณ์ (ปาล) ภาควิชาการสื่อสารและสารสนเทศ ( ICE ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายหลังการประกาศผล นายปิยวัฒน์ อำนวยผลเจริญ (ธรรศ) ผู้ชนะการแข่งขันซึ่งเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่าได้ร่วมเข้าแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งแรก ส่วนตัวได้เรียนรู้มากขึ้นว่า Smart contract บนบล็อกเชนสามารถทำอะไรได้มากกว่าการสร้างเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี และเราสามารถสร้าง Smart contract ได้อย่างไรจากการเวิร์คช็อปในช่วงเช้า รู้สึกสนุก และที่สำคัญที่สุดคือได้แรงบันดาลในการไปพัฒนาตนเอง จึงอยากให้ทางบิทคับจัดงานแบบนี้ขึ้นอีกเรื่อย ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้มีคนรุ่นใหม่สายนี้มากขึ้น
ที่มา:
Medium