บทความ
ประวัติศาสตร์การเงินก่อนมาเป็น Bitcoin
ทุกวันนี้ Bitcoin กลายเป็นหัวข้อที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นวงสนทนาทั่วไป หรือในแวดวงของนักธุรกิจรายใหญ่ ทำไม Bitcoin ถึงกลายเป็น Talk of the Town เช่นนี้? Bitcoin เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไร? เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้ เราจะมาย้อนเวลาดูประวัติศาสตร์ของการเงิน ก่อนมาเป็น Bitcoin ไปด้วยกัน
ความหมายของ “เงิน”
เงิน หมายถึง “สิ่งที่ได้รับการยอมรับให้มีมูลค่า สามารถใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการได้” ดังนั้น สิ่งของรอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น ฝาขวดน้ำ เศษเหล็ก หรือแม้แต่เศษกระดาษ ก็สามารถใช้เป็นเงินได้ ถ้าได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
เงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเป็นเหรียญ ธนบัตร หรือเงินที่อยู่บนแอปธนาคาร มูลค่าไม่ได้อยู่ที่ตัวเหรียญหรือธนบัตร แต่ที่เราสามารถใช้มันในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ เป็นเพราะว่าทุกฝ่ายยอมรับให้มันสามารถใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนได้
เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราต้องย้อนกลับไปในอดีตเพื่อดูว่าบรรพบุรุษของเรา พวกเค้าใช้อะไรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก่อนที่จะมาเป็นเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยน
นักโบราณคดีเชื่อว่ารูปแบบดั้งเดิมที่สุดของการแลกเปลี่ยน คือการนำสิ่งที่ตนมีมาแลกกับสิ่งที่ต้องการจากคนอื่น (Barter) ยกตัวอย่างเช่น นำข้าวสารมาแลกกับเนื้อสัตว์จากนักล่า หรือนำหนังสัตว์ไปแลกกับรองเท้ากับช่างทำรองเท้า ซึ่งการแลกเปลี่ยนแบบนี้คาดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ 10,000 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช (10,000BC) หรืออาจย้อนกลับไปนานยิ่งกว่านั้นเสียอีก
กำเนิดเหรียญ
การแลกเปลี่ยนแบบเดิม ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาในการเจรจาและมีขั้นตอนที่วุ่นวายกว่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ ดังนั้นจึงเริ่มมีการนำสิ่งของที่มีมูลค่ามาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน
โดยมีบันทึกว่าเมื่อ 9,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช (9,000BC) ปศุสัตว์จำพวกวัว ควาย แพะ หรือแกะ ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับผลผลิตทางการเกษตรในบางวัฒนธรรม ดังนั้นปศุสัตว์จึงเปรียบเสมือนกับเงินรุ่นแรก หรือเมื่อประมาณ 1,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช (1,200BC) วัฒนธรรมที่มีถิ่นฐานตั้งอยู่ใกล้กับทะเลหรืออยู่บนเกาะ เริ่มนำเปลือกหอยมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เนื่องจากเปลือกหอยมีจำนวนจำกัดและพกพาได้ค่อนข้างง่าย
ส่วนเหรียญแรกที่มีบันทึกไว้ในโลกตะวันตก เกิดขึ้นประมาณ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช (600BC) วัฒนธรรมที่เป็นต้นกำเนิดของเหรียญรุ่นแรก ๆ อยู่ในแถบยุโรป ในพื้นที่เคยถูกเรียกว่า Lydia (ปัจจุบันคือตุรกี) โดยกษัตริย์ Alyattes ของ Lydia ทรงมีพระราชโองการให้สร้างเหรียญขึ้นมาด้วย “ทองคำเขียว” ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างทองและเงิน โดยกระบวนการที่ใช้สร้างเหรียญขึ้นมาเรียกว่าการ Minting เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาเหล่านี้ได้รับความนิยมจากบรรดาพ่อค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากนั้นหลาย ๆ ประเทศจึงเริ่มยอมรับให้ใช้เหรียญแทนมูลค่า การใช้เหรียญจึงแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว
กำเนิดธนบัตร
แม้ว่าเหรียญที่ทำขึ้นจากโลหะจะมีความคงทนสูง แต่การพกพาเป็นจำนวนมาก ๆ ก็ทำให้มีน้ำหนักที่มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกับบรรดาพ่อค้าที่ต้องเดินทางไปไหนต่อไหน การพกเหรียญเป็นจำนวนมาก ๆ นอกจากจะเทอะทะแล้วยังอาจเป็นอันตรายได้อีกด้วย จึงเริ่มมีแนวคิดสร้างเงินที่ทำขึ้นมาจากกระดาษหรือธนบัตร ซึ่งมีน้ำหนักเบาและพกพาได้ง่ายกว่า
มีบันทึกว่าราชวงศ์จีนเป็นวัฒนธรรมแรก ๆ ที่นำเหรียญไปฝากไว้ในท้องพระคลัง จากนั้นทางราชวังจะออกเอกสารที่ระบุมูลค่าของเหรียญที่ฝากเข้ามา เรียกว่าเป็นการผูกมูลค่าของเอกสารเข้ากับเหรียญที่ฝากเข้ามา เอกสารนั้นจึงสามารถใช้แทนมูลค่าในการซื้อขายได้ หากต้องการนำเหรียญออกมาก็เพียงแค่นำเอกสารนั้นไปคืนให้กับทางราชวัง
ต่อมาเอกสารเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ถูกปรับมาให้มีการนำมูลค่าไปผูกเข้ากับทองคำ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การใช้ธนบัตรที่ผูกมูลค่าเข้ากับทองคำเป็นที่ยอมรับกันเกือบทั่วโลกเลยทีเดียว
กำเนิด Fiat Currency
จุดเริ่มต้นของ Fiat Currency ที่เราใช้กันทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 1931 โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ประกาศยกเลิกมาตรฐาน Gold Standard หรือกฏหมายที่กำหนดให้ธนบัตรทุกใบต้องผูกมูลค่าเข้ากับทองคำ ถัดมาในปี 1933 สหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศยกเลิกกฏหมายนี้เช่นกัน ส่งผลให้นานาประเทศเริ่มทำตามประเทศมหาอำนาจในยุคนั้น
Fiat Currency หมายถึงเงินที่ไม่มีการผูกมูลค่าเข้ากับสิ่งของที่มีค่า เช่น ทองคำ โดยคำว่า Fiat มาจากภาษาละตินแปลว่า By decree หรือ “ตามคำบัญชา” ดังนั้น มูลค่า Fiat currency จึงมาจากความน่าเชื่อถือและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศหรือรัฐบาลที่เป็นผู้ออกเงิน
ข้อดีของ Fiat Currency คือไม่ต้องมูลค่าเข้ากับสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัดอย่างทองคำ รัฐบาลจึงสามารถสั่งพิมพ์เงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด เหมาะสำหรับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของทางรัฐบาล และตอบโจทย์กับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ข้อเสียสำคัญที่สุดของ Fiat Currency คือการที่ธนาคารเป็นผู้ควบคุมการออกเงิน ทำให้ธนาคารมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมเศรษฐกิจ อาจนำมาซึ่งปัญหาคอร์รัปชันหรือการบริหารที่ผิดพลาด เช่น หากพิมพ์เงินออกมามากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา เงินที่ถืออยู่ก็จะมีมูลค่าต่ำลง ตัวอย่างที่รุนแรงของที่สุดของภาวะเงินเฟ้อ (Hyperinflation) คือประเทศเวเนซุเอลาที่เงินหลักล้านแทบก็จะไร้ซึ่งมูลค่า
กำเนิดเงินดิจิทัล
เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ข้อมูลทุกอย่างสามารถถูกเปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลบนโลกออนไลน์ ที่ข้อมูลทุกอย่างสามารถถูกเพิ่มจำนวนและกระจายออกไปได้อย่างอิสระ แต่สำหรับเงินที่เป็นสิ่งที่มีมูลค่า หากทำให้เงินสามารถถูก Copy & Paste ได้เหมือนข้อมูลก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ดังนั้น ธนาคารจึงเข้ามาเป็นตัวกลางควบคุมเงินดิจิทัลเหล่านี้ การทำธุรกรรมในรูปแบบออนไลน์จึงต้องดำเนินการผ่านธนาคารทั้งหมด หรือที่เรียกว่า สกุลเงินดิจิทัลแบบ Centralized หรือ “รวมศูนย์”
แม้การทำธุรกรรมแบบออนไลน์ด้วยเงินดิจิทัลจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เงินดิจิทัลที่ใช้นั้นก็ยังคงเป็น Fiat Currency ที่ออกโดยธนาคาร เงินเหล่านี้มีโอกาสที่จะสูญเสียมูลค่าลงไปได้ หากธนาคารพิมพ์เงินออกมาเพิ่ม
กำเนิด Bitcoin
Bitcoin หรือ Cryptocurrency เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเงินดิจิทัลตัวแรกที่ไม่ถูกควบคุมโดยธนาคารหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เรียกว่าเป็นเงินดิจิทัลตัวแรกที่เป็น “Decentralized” หรือกระจายศูนย์อย่างแท้จริง ทำได้โดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกธุรกรรม
เทคโนโลยี Blockchain เป็นการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง แต่แทนที่จะเก็บข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดของ Bitcoin จะถูกเก็บไว้ในครื่องคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่องทั่วโลก โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกตรวจสอบให้ตรงกันอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมข้อมูลบนเครือข่ายของ Bitcoin ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากเครือข่าย
เมื่อทั่วโลกเริ่มเข้าใจคุณสมบัติของ Bitcoin และเริ่มมีการนำ Bitcoin มาใช้เป็นสื่อกลางเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันจริง ๆ มูลค่าของ Bitcoin จึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามขนาดของเครือข่าย นอกจากนี้ ผู้สร้าง Bitcoin ยังกำหนดให้ Bitcoin มีจำนวนจำกัดได้เพียง 21 ล้านเหรียญ อุปทานของ Bitcoin เลยมีจำกัด ไม่เหมือนกับ Fiat Currency ที่สามารถถูกพิมพ์ออกมาได้เรื่อย ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ Bitcoin ในฐานะการเงินแห่งอนาคต
สรุป
เงิน คือ “สิ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีมูลค่าสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการได้” ดังนั้น เงินจะเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่ ฝาขวด เปลือกหอย หรือแม้แต่เศษกระดาษ โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เงินมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ที่เราคุ้นเคยที่สุดก็คือ เหรียญ ธนบัตร และเงินดิจิทัล
เงินที่เราคุ้นเคยและใช้กันในปัจจุบันนี้ เรียกว่า Fiat Currency ซึ่งเป็นเงินที่ไม่มีการผูกมูลค่าเข้ากับสิ่งใด มูลค่าของมันมาจากความน่าเชื่อถือของธนาคารที่ออกเงินเท่านั้น นั่นจึงทำให้ธนาคารสามารถพิมพ์เงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อ
Bitcoin คือเงินดิจิทัลตัวแรกที่ “Decentralized” หรือ กระจายศูนย์ ทำได้ด้วยด้วยเทคโนโลยี Blockchain ส่วนมูลค่าของ Bitcoin มาจากการยอมรับและการใช้งานจริงจากผู้คนทั่วโลก ไม่ต่างอะไรกับอดีตที่ใช้เปลือกหอยในการแลกเปลี่ยนสินค้า นอกจากนี้ Bitcoin ถูกสร้างมาให้มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ นั่นจึงทำให้อุปทานของ Bitcoin มีจำกัด ต่างกับ Fiat Currency ที่สามารถถูกพิมพ์ออกมาได้เรื่อย ๆ Bitcoin จึงได้รับการยอมรับว่าเป็น “การเงินแห่งอนาคต”
เป็นเจ้าของ Bitcoin ได้แล้ววันนี้ ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้บริการ Bitkub กระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีทั้ง Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ มาให้เลือกสรรมากกว่า 38 สกุล พร้อมทีมซัพพอร์ตที่พร้อมช่วยเหลือคุณตลอด 24 ชั่วโมง
อ้างอิง: Thought Co., Britannica, Spectrum, History of Yesterday, Investopedia
ที่มา:
Medium