บทความ
Polkadot เหรียญใหม่มาแรง จากผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum
Polkadot ที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ไม่ใช่ลายจุดน่ารักๆบนเสื้อผ้าแต่อย่างใด แต่มันคือโปรเจ็คที่จะมาแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีบล็อกเชน นั่นก็คือเรื่องของ Interoperability หรือการเชื่อมต่อเครือข่ายบล็อกเชนแต่ละเครือข่ายเข้าด้วยกันและทำให้เครือข่ายเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกเรื่องคือ Scalability หรือก็คือความสามารถในการรองรับจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยไม่ทำให้กระบวนการยืนยันธุรกรรมล่าช้าลง
แนวคิดของ Polkadot
Polkadot มีคุณ Gevin Wood (หรือชื่อเต็ม Dr. Gavin James Wood) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งเขาคนนี้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และมีบทบาทในฐานะ Chief Technology Officer (CTO) ของ Ethereum นั่นเอง
ทุกวันนี้ หลายๆองค์กรกำลังแข่งขันกันสร้างและพัฒนาเครือข่ายบล็อกเชน ทำให้เกิดเครือข่ายบล็อกเชนขึ้นมากมาย ซึ่งแนวคิดของ Polkadot พวกเขาไม่ได้มองว่าจะมีเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งที่จะขึ้นมาเป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียว แต่มองว่าบล็อกเชนแต่ละเครือข่ายต่างก็มีวัตถุประสงค์ ข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป จึงเกิดเป็นแนวคิดที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายเหล่านี้เข้าด้วยกัน หรือก็คือการ Connecting the Dots
หลักการทำงานของ Polkadot
Relay Chain & Parachain
Polkadot เป็นเครือข่ายบล็อกเชนแบบ Sharded Blockchain ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีการแบ่ง Nodes สำหรับ การประมวลผลออกเป็น Nodes ย่อยๆภายในเครือข่าย จึงทำให้เครือข่ายสามารถประมวลแบบขนาน หรือ Parallel Processing และแก้ปัญหา Scalability ได้ โดยทางผู้พัฒนา Polkadot เรียกระบบที่เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญนี้ว่า Relay Chain ส่วนหน่วยประมวลผลย่อยเหล่านี้ก็คือ Parachain
Collators & Validators
Collators หรือ ผู้เรียบเรียง จะมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการประมวลผลภายใน Shard หนึ่งๆ ก่อนที่จะส่งต่อไปให้กับ Validators หรือผู้ตรวจสอบให้ทำการรับรองข้อมูล และกระจายข้อมูลนั้นๆออกสู่เครือข่าย Relay Chain
Bridges
อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของ Polkadot ที่จะมาช่วยเรื่อง Interoperability หรือการเชื่อมต่อเครือข่ายบล็อกเชนเข้าด้วยกัน ซึ่งตัว Bridges หรือสะพาน ก็คือตัวที่จะเชื่อมต่อเครือข่าย Polkadot เข้ากับบล็อกเชนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Ethereum หรือ Bitcoin ซึ่งข้อมูลการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเครือข่ายบล็อกเชนเหล่านี้จะถูกส่งมายัง Collators เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อให้ Validators ทำการยืนยันข้อมูลและส่งขึ้นไปบันทึกในเครือข่าย Relay Chain
Upgradable
เดิมทีการอัพเกรดเครือค่ายบล็อกเชนอาจทำให้เกิดภาวะ Hard Fork ซึ่งเกิดจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของผู้พัฒนา กลุ่มหนึ่งอยากอัพเกรดจุดนี้ แต่อีกกลุ่มอยากให้เลือกปรับปรุงตรงนั้น ซึ่งจะทำให้เครือข่ายบล็อกเชนนั้นถูกแยกออกเป็น 2 ฝั่ง อย่างกรณีของ Ethereum กับ Ethereum Classic หรือ Bitcoin กับ Bitcoin Cash แต่เครือข่าย Polkadot ถือเป็นเครือข่ายแรกที่นำเสนอโครงสร้างที่สามารถทำการอัพเกรดบล็อกเชนได้โดยไม่เกิดภาวะ Hard Fork
DOT Token
เหรียญ DOT ก็คือเหรียญคริปโตที่เป็นของเครือข่าย Polkadot ซึ่งตัวเหรียญจะมีบทบาทสำคัญกับเครือข่ายอยู่ 3 อย่างด้วยกัน
Governance มอบสิทธิ์ในการควบคุมเครือข่าย — ผู้ที่ถือครองเหรียญ DOT จะได้รับสิทธิ์ในการออกเสียงเพื่อกำหนดทิศทางสำหรับการพัฒนาเครือข่าย
Staking ปักเหรียญในระบบเพื่อร่วมเป็นผู้ตรวจสอบ — ผู้ถือครองเหรียญ DOT จะสามารถเลือกได้ว่าจะปักเหรียญ DOT จำนวนหนึ่งไว้ในระบบหรือที่เรียกว่า Staking เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลหรือ Validator ให้กับเครือข่าย ซึ่ง Validator ที่ทำหน้าที่ได้ดีก็จะได้รับเหรียญ DOT ตอบแทน ในทางกลับกันผู้ตรวจสอบที่ทุจริตหรือละเลยหน้าที่ก็อาจถูกระบบยึดเหรียญไป
Bonding เชื่อมต่อเครือข่ายเข้าด้วยกัน — เครือข่ายบล็อกเชนที่ต้องการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย Relay Chain ผ่านระบบ Bridge จะต้องทำการฝากเหรียญ DOT เข้าไปในเครือข่ายจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะสามารถ Bonding หรือประสานเครือข่ายเข้าด้วยกันได้
เกร็ดน่ารู้
ข้อมูลจาก CoinGecko ระบุว่า Polkadot ติดอันดับ TOP 10 โปรเจ็คต์ ICO ปี 2017 และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา Polkadot นับเป็นทรัพย์สินดิจิทัลที่มีมูลค่ารวมสูงติดอันดับ 7 ของทรัพย์สินดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงสุดทั่วโลก
รายงานจาก Cryptoslate ระบุว่า มูลค่ารวมของเหรียญ DOT ได้ขึ้นแตะระดับ 3.5 พันล้านดอลลาร์ภายในเวลาแค่ 6 วันหลังเปิดให้แลกเปลี่ยนเหรียญ โดยปัจจัยที่ทำให้มูลค่าของ Polkadot เพิ่มสูงขึ้นในเวลาสั้นๆ มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ 1) ตลาดกำลังมองหาเครือข่ายใหม่ที่มีโอกาสขึ้นมาครองตลาด 2) มีกระดานซื้อขายรายใหญ่อย่าง Binance กับ Kraken ประกาศลิสเหรียญ และ 3) ตลาดมีความต้องการเทคโนโลยีที่จะมาแก้ไขปัญหา Scalability อยู่ในระดับสูง
Spartan Black ผู้ประกอบการด้านเหรียญดิจิทัลรายใหญ่ในฝั่งเอเชีย ประเมินว่า Polkadot มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถเติบโตเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลกได้
Polkadot มีเครือข่าย Testnet เรียกว่า Kusama ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับเครือข่ายหลักอย่าง Polkadot ซึ่ง Kusama เป็นเครือข่ายที่เอาไว้ให้ผู้พัฒนาสามารถทดลองเขียนแอพพลิเคชั่นหรือบล็อกเชน และทดสอบการทำงานก่อนนำขึ้นไปบนเครือข่าย Polkadot ของจริง โดยผู้พัฒนาต้องถือเหรียญ Kusama (KSM) ถึงจะเข้าร่วมในเครือข่ายได้
แน่นอนว่าเมื่อมีเทคโนโลยีที่โดดเด่นและมาแรง Bitkub จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง วันนี้คุณสามารถซื้อขายเหรียญ Polkadot และทรัพย์สินอื่นๆมากกว่า 34 รายการที่ Bitkub กระดานซื้อขายเหรียญดิจิทัลอันดับ 1 ของประเทศไทย สนใจเปิดบัญชีได้ที่: https://www.bitkub.com/
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=_-k0xkooSlA
https://www.youtube.com/watch?v=RBkaR4UT2DU
https://polkadot.network/Polkadot-lightpaper.pdf
https://cryptoslate.com/ethereum-competitor-polkadot-hits-3-5b-valuation-whats-fueling-the-rally/