บทความ

เปิดเทคนิคลงทุนสู้ตลาดหมี Bear Market

image

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลาดและสถานการณ์โลกมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโทฯ เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากในปัจจุบันเริ่มมีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ก่อนที่เราจะทราบเทคนิคลงทุนเรียนรู้วิธีสู้กับ “ตลาดหมี” (Bear Market) เรามาเริ่มทำความรู้จักความหมายพอสังเขปของคำว่า “ตลาดหมี” กันดีกว่า

ตลาดหมี คืออะไร?

เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกตลาดที่มีแนวโน้มเป็นขาลง โดยลักษณะของกราฟที่มีทิศทางทิ้งตัวลงมาโดยเปรียบเทียบกับอาการถูกตะปบของหมีอย่างรุนแรง ซึ่งสภาวะตลาดเช่นนี้มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ทำให้เกิดความกังวลและเลือกถอนเงินออกจาก Asset classes ที่มองว่าความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นและคริปโทฯ เปลี่ยนไปถือครอง Asset classes ที่มองว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่า ส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดคริปโทฯ จนเกิดสภาวะ “ตลาดหมี”

ซึ่งในทางกลับกันหากสภาวะตลาดดีขึ้น สินทรัพย์ดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากปัจจัยโดยรอบ จะทำให้เกิดสภาวะตลาดกระทิง (Bull market) โดยที่กราฟจะดันตัวสูงขึ้นไปในทิศทางขาขึ้น เปรียบเสมือนการพุ่งชนของกระทิงที่จะก้มหัวเพื่อกระโดดเข้าใส่คู่ต่อสู้นั่นเอง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดตลาดหมี

ข่าว

ไม่ว่าจะเป็นข่าวลบที่เป็นเรื่องจริงหรือแม้แต่กระทั่งข่าวปลอม (Fake news) ก็สามารถส่งผลโดยตรงอย่างรวดเร็วให้กับสินทรัพย์ได้เช่นกัน เมื่อเกิดข่าวลบออกมาจะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนลดน้อยลงจนไม่ต้องการที่จะถือครองสินทรัพย์นั้นอีกต่อไป โดยข่าวแง่ลบที่เคยเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบให้กับสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเหรียญคริปโทฯ อาจเป็นได้ทั้งข่าวที่มาจากการออกกฎหมายควบคุมหรือสั่งห้ามการทำธุรกรรมกับสินทรัพย์ดิจิทัลในบางประเทศ การเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งจากผู้พัฒนาเหรียญคริปโทฯ เองก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

2. สถานการณ์โลก

จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการระบาดของโควิดที่ยังไม่จบลงโดยสิ้นเชิง ทำให้ Supply chain เกิดหยุดชะงักในบางจุด เกิดสภาวะขาดแคลนสินค้า มีต้นทุนการผลิตสินค้าทั่วโลกสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น อีกเหตุผลคือสืบเนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซียจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะรัสเซียเองก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุด มีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ทองแดง เหล็ก และก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อด้านอุปทาน หรือ Cost-Push Inflation ที่มาจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นทั้งในเรื่องของแรงงาน วัตถุดิบ การขนส่ง ฯลฯ

และอีกทั้งยังมีในฝั่งของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ หรือ Demand-Pull Inflation ที่สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิดเช่นเดียวกันที่ทำให้ทาง FED ตัดสินใจทำ Quantitative Easing (พิมพ์เงิน) และลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้มีเงินหมุนในระบบจำนวนมาก ผู้คนมีเงินซื้อของมากขึ้นทำให้มีเงินหมุนในระบบจำนวนมาก ผลักให้ราคาสินค้าแพงขึ้นนั่นเอง

3. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

เชื่อว่านักลงทุนคงคุ้นเคยกับหน่วยงานนี้เป็นอย่างดี และจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve System ได้ออกมาตรการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อพยายามลดอัตราเงินเฟ้อตามรายงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเลือกถอนเงินออกจาก Asset classes ที่มองว่าความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นและคริปโทฯ ส่งผลให้ตลาดคริปโทฯเกิดความผันผวน การถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลก็เริ่มลดน้อยลง เพราะนักลงทุนต่างทยอยปรับพอร์ต เทขายสินทรัพย์ที่มีโอกาสที่จะน่าจะทำกำไรได้น้อยกว่าออกมาก่อน

ปรับพอร์ตลงทุนสู้ตลาดหมี

คุณรวมพร ศิระธนาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจและกลยุทธ์ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด กล่าวไว้ในงาน Money Expo 2022 ครั้งที่ 22 ว่า เคยมีผู้ที่ได้เปรียบเทียบการจัดพอร์ตการลงทุนเสมือนกับการจัดผู้เล่นในทีมฟุตบอล คือมีหลายตำแหน่งมีทั้งกองหลัง กองกลาง กองหน้า ซึ่งแต่ละผู้เล่นหรือแต่ละส่วนก็จะทำหน้าที่ของตัวเองแต่ว่าก็จะมาประสานงานกัน ทำให้เกิดเป็นผลงานของทีม ในช่วงเวลาตลาดหมีหรือ Bear Market อาจจะแนะนำได้ว่าควรมีผู้เล่นที่เป็นกองหลังเยอะให้เยอะขึ้น คือเป็นผู้เล่นไม่ได้หวือหวามาก แต่ว่าผู้เล่นกองหลังเหล่านี้จะเป็นผู้เล่นที่ทำให้เราไม่เจ็บหนักจนเกินไป มีการป้องกันประตูให้เรา ผู้เล่นกองนี้จะหมายถึงคริปโทเคอร์เรนซีในกลุ่ม Large cap หรือเหรียญที่มีมูลค่าเยอะ ๆ มีมูลค่าตามราคาตลาดมากจึงทำให้สามารถลงทุนได้อย่างปลอดภัย

จากนั้นค่อยเป็นในส่วนของกองกลาง คือ Mid cap ที่อาจจะมีมูลค่าไม่เยอะในขณะนี้ แต่เรามองว่ามีโอกาสในการทำกำไร ถ้าเป็นตลาดหมีก็อาจจะมีสัดส่วนที่น้อยหน่อย แต่ถ้าตลาดเริ่มกลับมาพลิกฟื้นหรือกลับมา เราอาจจะค่อยมองหาตัวที่เป็น Altcoin ตัวที่ถือว่าเป็น Small cap แต่มีโอกาสทำกำไรให้เราเพิ่มขึ้น

แต่ต้องย้ำอีกทีว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ก็อาจจะต้องมองกลับไปในส่วนของจุดเริ่มต้นของการลงทุนของเราว่าก่อน ว่าเรามีเป้าหมายยังไง เราสามารถจัดสรรในส่วนของเงินลงทุนได้เท่าไหร่ อย่างไรบ้าง แล้วก็ในเรื่องของจัดสรรเงินลงทุนไปตามแต่ละ Asset classes ด้วย

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยในช่วง Bear Market ก็คงจะเป็นในเรื่องของการ Stop loss ซึ่งเราสามารถตั้งจุดที่เรารับความเสี่ยงได้สูงสุดเอาไว้ แล้วทำตามแผนอย่างที่เคร่งครัด เพื่อลดความสูญเสียเกินกว่าเหตุที่จะเกิดขึ้นในสภาวะตลาดแบบนี้

*ข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อเสนอการลงทุนหรือการจัดการใด ๆ ของการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี
**การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

อ้างอิง:

​​https://www.bitkub.com/blog/what-is-fed-fomc-meeting-16582274dd24

https://www.youtube.com/watch?v=-ctE2ClFwEs&t=1822s

ผู้เขียน: Preeyapa Taweewikyagan | 01 มิ.ย. 65 | อ่าน: 3265
บทความล่าสุด