บทความ

False Breakout คืออะไร? สิ่งที่นักเทรดทุกคนต้องเคยเจอ

เขียนโดย นาย ธัชชัย เมธียนต์พิริยะ

image

False Breakout หรือ Fake Breakout คือคำศัพท์ที่ถูกใช้ในการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (TA) หมายถึงการที่ราคาสินทรัพย์ทะลุ (Breakout) ออกจากแนวรับ/ต้าน หรือ เส้นแนวโน้ม (Trend Line) ซึ่งโดยปกติ มักจะเป็นสัญญาณให้ส่งคำสั่งซื้อหรือขาย เพราะกราฟราคาที่ได้ Breakout ออกมาแล้ว มักจะเคลื่อนที่ต่อในแนวโน้มเดิม อย่างไรก็ตาม การ False Breakout คือกรณีที่ราคากลับสวนทางกับที่คาดไว้ แล้วหวนกลับเข้าแนวโน้มเดิม ส่งผลให้คำสั่งที่เปิดในช่วง False Breakout กลับขาดทุน

มากไปกว่านั้น False Breakout อาจส่งผลให้คำสั่งตัดขาดทุน (Stop Loss) เสียหายได้ เนื่องจากการ Breakout ในลักษณะนี้เป็นเพียงสัญญาณปลอม เมื่อราคาได้ไปถึงจุดที่ตั้ง Stop Loss ไว้ ระบบก็จะตัดขายสินทรัพย์โดยอัตโนมัติ เพราะคาดว่าราคาจะต้องลงต่อ และเสียโอกาสในการทำกำไร

ตัวอย่างของ False Breakout

image

ในกรณีนี้ กราฟราคาได้ Breakout ออกจาก เส้นที่ลากจากจุดต่ำสุดสองจุดที่อยู่ระหว่างหัวและไหล่ทั้งสอง (Neckline) ของ Chart Pattern รูปแบบ Inverted Head and Shoulder ที่มักจะส่งผลให้เกิดการกลับตัวขึ้นของแนวโน้มในตลาดอย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สัญญาณนี้กลับเป็นแค่สัญญาณหลอก (False Signal) หลังจากที่กราฟราคาขึ้นสูงไปได้สักพัก มันก็ได้ร่วงลงและทะลุ Neckline เป็นครั้งที่สอง แล้วกลับไปเป็นแนวโน้มขาลงเช่นเดิม

ประเภทของ False Breakout

False Breakout สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ ตามทิศทางของการ Breakout

Bull Trap (กับดักขาขึ้น) คือลักษณะ False Breakout ที่เกิดขึ้นเมื่อกราฟราคาได้ Breakout ออกจากแนวต้านขึ้นไป แล้วถดถอยลงมาอยู่ในช่วงราคาเดิมในระยะเวลาอันสั้น

Bear Trap (กับดักขาลง) คืออีกลักษณะหนึ่งของ False Breakout เป็นสัญญาณหลอกว่าแนวโน้มในตลาดกำลังจะเป็นขาลง เนื่องจากกราฟราคาได้ Breakout ออกจากแนวรับ อย่างไรก็ตาม หลังเวลาได้ผ่านไปสักพัก กราฟราคาก็กลับเข้าไปอยู่ในแนวโน้มเดิม

image

วิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจาก False Breakout

การหลีกเลี่ยง False Breakout ทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการบรรเทาความเสี่ยงผ่านการใช้เครื่องมือ Indicator ที่หลากหลาย และประสบการณ์เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ

หนึ่งวิธีป้องความเสี่ยงจาก False Breakout ได้ก็คือการอดทนรอ หาจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการส่งคำสั่ง โดยพื้นฐาน เทรดเดอร์ควรรอให้แท่งเทียนที่ปิดเหนือแนวที่ถูก Breakout หนึ่งถึงสองแท่งก่อนที่จะเทรด หรือดูกราฟแท่งเทียนใน Time Frame ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อยืนยันว่าแนวโน้มในตลาดจะไปตามที่ทิศทางที่คาดหวังไว้

อีกหนึ่งในวิธีที่ปลอดภัยสำหรับการยืนยันว่าการ Breakout เป็นสัญญาณจริง คือการดู Volume (ปริมาณการซื้อขาย) ประกอบ ตามที่ทฤษฎีดาว (Dow Theory) ข้อที่ 5 ได้ระบุไว้ว่า “Volume Must Confirm The Trend” หรือ “ปริมาณซื้อขายจะต้องยืนยันแนวโน้มของตลาดได้” ดังนั้น เมื่อปริมาณซื้อขายในตลาดสูงพอ ก็บ่งบอกได้ว่าการ Breakout นั้น เป็นจริงและไม่ใช่สัญญาณหลอก

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็มีข้อเสียหนึ่งอย่าง คือ จังหวะที่ Volume ดันขึ้นสูง ราคาที่ Breakout แล้วก็มักจะขึ้นหรือลงไปมากแล้ว เทรดเดอร์ที่รอสัญญาณนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะตกรถ

นอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้ว การลดความเสี่ยงในการเทรด เทรดเดอร์ควรมีวินัยและการบริหารความเสี่ยงที่ดี การพิจารณาออกจากคำสั่งที่ขาดทุนจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้

การออกจากคำสั่งที่ขาดทุนที่นิยม ก็คือการ Stop Loss แม้อาจจะมีความเสี่ยงที่จะโดน False Breakout ปิดออเดอร์ในจังหวะที่ไม่ต้องการ แต่ในกรณีที่ราคาในตลาดสวนทางกับที่คาดหวังไว้ Stop Loss จะสามารถควบคุมความเสียหายได้เป็นอย่างดี และอีกกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นที่นิยมก็คือการ Take Profit หรือขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไรเมื่อมีโอกาส เพื่อลดความเสี่ยงที่กำไรนั้นจะลดลง หรือขาดทุนในที่สุด

อ้างอิง : DailyFX, Stock2morrow, Dailypriceaction, DayTradeTheWorld

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Sakdithat Sopon | 07 ม.ค. 65 | อ่าน: 9,806
บทความล่าสุด