บทความ

Data Oracle คืออะไร? สำคัญอย่างไร?

Data Oracle, What is it? Why does it matter?

image

บทความก่อนหน้านี้ได้พูดถึง Band Protocol ที่เป็น Data Oracle กันไปแล้ว สงสัยกันไหม ว่า Data Oracle คืออะไร?

ทุกคนคงทราบแล้วว่าเครือข่ายบล็อกเชนเป็นระบบปิด แล้วทีนี้สงสัยกันไหม? เครือข่ายจะสามารถรับข้อมูลจากโลกภายนอกเพื่อทำเป็น Smart contract หรือเขียนแอพพลิเคชั่นได้อย่างไรล่ะ? คำตอบก็คือ Data Oracle นั่นเอง

Data Oracle สำหรับบล็อกเชน หรือบางครั้งก็เรียกว่า Blockchain Oracle (ต่อไปนี้จะเรียกแค่ Oracle) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดตัวหนึ่งสำหรับการเขียน Smart contract หรือแอพลิเคชั่นแบบไม่มีตัวกลาง (dApps) ซึ่งหน้าที่ของ Oracle ก็คือการเป็นตัวกลางที่คอยป้อนข้อมูลเข้าสู่ Smart contract หรือเครือข่ายบล็อคเชนแบบอัตโนมัติ

ข้อมูลที่ Data Oracle สามารถประมวลผลและป้อนให้กับเครือข่ายบล็อกเชนจะครอบคลุมอย่างอย่างมากๆ ตั้งแต่เรื่องของสภาพอากาศ ผลการแข่งขันกีฬา อุณหภูมิ ไปจนถึงข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูง อย่างราคาหุ้นหรือสินทรัพย์ ผลการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั้งข้อมูลจากบล็อกเชนด้วยกันเอง โดย Oracle ที่เชื่อมต่อข้อมูลจากโลกภายนอกเข้าสู่บล็อกเชนเรียกว่า Off-chain Oracle ขณะที่ Oracle ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง 2 บล็อกเชนขึ้นไปจะเรียกว่า On-chain Oracle

ประเภทของ Oracle

Oracle เป็นเพียงชื่อเรียกของเครื่องมือหรือบริการที่ทำหน้าที่คอยป้อนข้อมูลให้กับ Smart contract ดังนั้น Oracle จึงมีด้วยกันหลายได้ประเภท และ Oracle หนึ่งตัวก็อาจเป็นได้มากกว่า 1 ประเภทเช่นกัน โดยหลักๆ Oracle จะสามารถแบ่งได้ตามนี้

Software Oracle — Oracle ประเภทนี้จะคอยดึงข้อมูลเชิงสถิติที่มาจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ อย่างเว็บไซต์หรือฐานข้อมูลต่างๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นไปได้ตั้งแต่ ราคาหุ้น ผลการแข่งขัน หรือ เที่ยวบินเที่ยวรถ เป็นต้น

Hardware Oracle — เป็นอุปกรณ์จำพวกเซ็นเซอร์ต่างๆที่สามารถวัดผลจากโลกภายนอกและแปลงข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นสัญญาณดิจิทัลได้ อย่างเช่น เครื่องแสกนบาร์โคด เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความเร็ว หรืออุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์ต่างๆ เป็นต้น

Inbound Oracle — ทำหน้าที่เป็นตัวรับข้อมูลที่ถูกส่งมาจากโลกภายนอกและป้อนเข้าสู่ระบบบล็อกเชน

Outbound Oracle — ทำหน้าที่สนับสนุนให้ Smart contract หรือบล็อกเชนสามารถส่งข้อมูลออกสู่โลกภายนอกได้ โดยอาจถูกใช้ในการปลดล็อกทรัพย์สินหลังการทำธุรกรรมเสร็จสิ้น เป็นต้น

Consensus-based Oracle — เป็น Oracle ที่จะดึงข้อมูลมาจากหลายๆแหล่งเพื่อนำมาประมวลและสรุปผล โดยข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเช่น ผลการเลือกตั้ง หรือคาดการณ์ราคา เป็นต้น

โปรเจกต์ Oracle ที่น่าสนใจ

image

Chainlink — ฺ เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 นับได้ว่าเป็น Oracle ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ณ ปัจจุบัน โดยเป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัทรายใหญ่อย่างเช่น Microsoft, Google, Binance, Swift, และ Intel เป็นต้น

image

2. Band Protocol — Oracle สัญชาติไทย เปิดระดมทุมเมื่อปี 2017 โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือคุณสรวิศ ศรีนวกุล (คุณแมน) Band Protocol เป็น Oracle ที่ตั้งอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง จึงสามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง Scalability หรือความสามารถในการรองรับจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นได้

image

3.Augur — เป็นเครือข่าย Oracle แบบ Consensus-based ที่คอยรวบรวมความคิดเห็นของเหล่านักลงทุนในตลาดและนำมาสรุปเป็นคาดการณ์ ซึ่งสามารถประยุกษ์ใช้ได้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ไปจนถึงการทายผลการแข่งขันกีฬา

image

4.Aion — เป็นชื่อเหรียญของโปรเจกต์ “Open Application Network” ซึ่งเป็น Oracle แบบ On-chain ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการลดช่องว่างระหว่างเครือข่ายบล็อกเชนด้วยกันเอง และเป็นตัวกลางที่จะสนับสนุนให้เกิดธุรกรรมระหว่างเครือข่ายบล็อกเชน

ตัวอย่างการใช้งาน Oracle

คาดการณ์ทิศทางตลาด

Oracle สามารถรวบรวม “ความคิดเห็นของผู้คน” นำมาประมวลผล และออกคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต อย่าง Augur หรือ Gnosis ที่ถูกใช้สำหรับการคาดการณ์ทิศทางราคาหุ้นหรือสินทรัพย์ต่างๆว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด

2. DeFi

DeFi หรือ Decentralized Finance (ระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง) จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงต้องใช้ Oracle เพื่อคอยรวบรวมข้อมูลจากหลายๆแหล่งและป้อนข้อมูลให้กับเครือข่ายแบบอัตโนมัติ หากขาด Oracle ไป การพัฒนา DeFi ก็คงถูกจำกัดอยู่แค่ในวงแคบๆเท่านั้น

3. การขนส่ง

การนำเทคโนโลยี Oracle มาแทนที่การใช้บริการ GPS ที่มีตัวกลาง อาจช่วยสนับสนุนการติดตามตำแหน่งและความคืบหน้าของการขนส่งสินค้าที่แม่นยำมากขึ้นได้

4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบล็อกเชน

หากในอนาคตโลกมีการประยุกษ์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนกันมากขึ้น นั่นหมายความว่าจะเกิดเครือข่ายบล็อกเชนขึ้นมาอีกมากมายในอนาคต การที่เครือข่ายเหล่านี้จะสามารถทำงานประสานกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก็จำเป็นต้องมี Oracle ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการสื่อสารกันระหว่าง 2 บล็อกเชนขึ้นไป

สรุป

เทคโนโลยี Oracle คือตัวกลางระหว่างเครือข่ายบล็อกเชนกับโลกภายนอก หรือกับอีกเครือข่ายบล็อกเชนหนึ่ง ซึ่งตัว Oracle เองก็เป็นเครือข่ายที่ไม่มีตัวกลาง ข้อมูลที่ได้จึงมีความน่าเชื่อถือและไม่สามารถถูกแก้ไขได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงมีบทบาทสำคัญมากสำหรับการเขียน Smart contract หรือแอพลิเคชั่นแบบไม่มีตัวกลาง (dApps)

ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Cryptocurrency กับ Bitkub ได้ที่ Facebook: @bitkubofficial

อ้างอิง

https://academy.binance.com/blockchain/blockchain-oracles-explained

http://blockchainhub.net/blockchain-oracles/

https://blockgeeks.com/guides/blockchain-oracles/

https://bandprotocol.com/

https://augur.net/

https://theoan.com/

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 16 ธ.ค. 64 | อ่าน: 6510
บทความล่าสุด