บทความ

อธิบาย Bitcoin การเงินแห่งอนาคต

image

ทำไมช่วงนี้ Bitcoin จึงเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง? Bitcoin คืออะไร? แตกต่างกับเงินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างไร? ทำไม Bitcoin คือการเงินแห่งอนาคต? เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้

Bitcoin คืออะไร?

image

Bitcoin คือสกุลเงินดิจิทัลตัวแรกของของโลกที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกธุรกรรม ถูกสร้างขึ้นมาในปี 2008 โดยบุคคลหรือกลุ่มคนที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ที่มีจุดมุ่งหมายให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินหรือตัวกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ตแบบ Peer-to-Peer โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

สิ่งที่ Bitcoin แตกต่างกับสกุลเงินที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเงินบาท เงินหยวน หรือแม้แต่เงินดอลลาร์ นั่นคือการทำธุรกรรมด้วย Bitcoin ไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ โดยตัวกลางในที่นี้หมายถึงธนาคารกลางหรือรัฐบาลที่มีอำนาจในการควบคุมเงินหรือพิมพ์เงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด ในขณะที่ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาให้มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้าน Bitcoin เท่านั้น

เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร?

image

เทคโนโลยี Blockchain ที่อยู่เบื้องหลัง Bitcoin ทำให้สกุลเงินดิจิทัลตัวนี้มีความเป็น Decentralized หรือกระจายศูนย์ โดย Blockchain เป็นฐานข้อมูล (Database) รูปแบบหนึ่ง แต่แทนที่จะเก็บข้อมูลธุรกรรมบนคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว Blockchain จะกระจายข้อมูลออกไปสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย หรือที่เรียกว่า Node โดยทุก Node จะถือข้อมูลชุดเดียวกันและมีการตรวจสอบให้ข้อมูลตรงกันเสมอ

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ การเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์ หรือ Centralized ก็เหมือนการแต่งตั้งหัวหน้าหมู่บ้านให้เป็นผู้คอยบันทึกทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเพียงคนเดียว แต่การเก็บข้อมูล Decentralized จะเป็นการให้ทุกคนในหมู่บ้านคอยจดธุรกรรมที่เกิดขึ้นและมีการเปรียบเทียบข้อมูลให้ตรงกันเสมอ และหากมีคนใดคนหนึ่งดัดแปลงข้อมูลธุรกรรม ก็สามารถทราบได้ทันทีเพราะข้อมูลจะไม่ตรงกับข้อมูลของคนอื่น ๆ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับการยอมรับจากทั้งหมู่บ้าน จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลที่จดโดยคน ๆ เดียว

มูลค่าของ Bitcoin มาจากไหน?

image

ถึงแม้ Bitcoin จะถูกสร้างขึ้นมาบนอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีสินทรัพย์ใดมาค้ำประกันและไม่สามารถจับต้องได้ แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่สกุลเงินที่ใช้กันในปัจจุบัน เช่น เงินดอลลาร์ มูลค่าของเงินดอลลาร์มาจากไหน? มูลค่าของเงินดอลลาร์มาจากความน่าเชื่อถือและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

ไม่ใช่แค่เงินดอลลาร์เท่านั้น สกุลเงินทุกสกุลบนโลก ทองคำ หรือแม้แต่เปลือกหอย มูลค่าของสิ่งเหล่านี้มาจากการยอมรับของผู้คนให้สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้เท่านั้น

Bitcoin เองก็เช่นกัน ในช่วงแรกที่ Bitcoin ถือกำเนิดขึ้นมา มูลค่าของมันก็ไม่ได้สูงนัก อาจต้องใช้ Bitcoin หลายเหรียญในการซื้อพิซซ่าเพียง 1 ถาด แต่ต่อมา เมื่อ Bitcoin เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น มูลค่าของมันก็เลยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก Network Effect รวมถึงการที่ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาให้มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ (ปัจจุบัน มี Bitcoin อยู่ในตลาดประมาณ 18 ล้านเหรียญ) นั่นทำให้อุปทานของ Bitcoin มีอยู่อย่างจำกัด แตกต่างกับสกุลเงินปัจจุบันที่สามารถถูกพิมพ์ออกมาได้อย่างไม่จำกัด บางครั้ง Bitcoin จึงถูกเรียกว่า Digital Gold หรือทองคำดิจิทัล เนื่องจากอุปทานที่มีจำกัด

ส่วนสาเหตุที่ราคา Bitcoin ปรับขึ้นมาได้ตลอดปี 2020 มาจากความเชื่อมั่นใน Bitcoin ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากได้ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ก็จะเห็นการที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกพากันเข้าซื้อ Bitcoin เพื่อถือเป็นสินทรัพย์สำรอง ยกตัวอย่าง เช่น MicroStretegy, Square, หรือ Greyscale และล่าสุดบริษัท Tesla ของ Elon Musk ก็เข้าซื้อ Bitcoin แล้วเช่นกัน รวมถึง Paypal ที่กำลังพัฒนาระบบการชำระเงินด้วย Bitcoin นี่จึงเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการยอมรับใน Bitcoin จากทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น

เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นจาก Bitcoin

image

การมาของ Bitcoin เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีทางการเงินอีกมากมาย โดยมีการนำเทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin อย่าง Blockchain มาประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอด เกิดเป็นเครือข่ายและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ยกตัวอย่าง เช่น Ethereum ที่นำ Smart Contract หรือ “สัญญาอัจฉริยะ” มาใช้ร่วมกับ Blockchain เกิดเป็น Decentralized Application (DApp) หรือ Decentralized Finance (DeFi) ที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางและมีค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น บริการกู้ยืม (Lending) หรือบริการ Yield Farming ที่กำลังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน

จริงอยู่ที่ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการบนอินเทอร์เน็ต แต่ด้วยมูลค่าที่ค่อนข้างผันผวน อาจไม่สามารถตอบโจทย์ของทุกคนได้ จึงเกิดเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า Stablecoin หรือเหรียญที่มีมูลค่าคงที่ ด้วยนำมูลค่าของมันไปผูกกับสินทรัพย์อย่าง เงินดอลลาร์ หรือ ทองคำ ผ่านการใช้ Smart contract ยกตัวอย่างเช่น USDT, USDC, หรือ DAI เป็นต้น

ประโยชน์ของ Blockchain ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องของการเงินเท่านั้น โดยปัจจุบันก็มีบริษัทระดับโลกหลายบริษัทที่นำ Blockchain มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของพวกเขาเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น Walmart เครือร้านค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่นำ Blockchain มาใช้กับการให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าได้อย่างโปร่งใส

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เครือโรงพยาบาล Hospital of Taipei Medical University (TMUH) ในไต้หวัน ที่นำ Blockchain มาใช้ในการบันทึกประวัติคนไข้และแชร์ข้อมูลภายในเครือข่าย ทำให้คนไข้ได้รับความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์เมื่อจำเป็นต้องใช้บริการในโรงพยาบาลที่ไม่เคยมีประวัติ เป็นต้น

สรุป

Bitcoin คือสกุลเงินดิจิทัลตัวแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกธุรกรรม ทำให้ Bitcoin มีความเป็น Decentralized หรือ “กระจายศูนย์” แตกต่างกับสกุลเงินที่ใช้กันในปัจจุบัน อย่าง เงินบาท เงินยูโร หรือเงินดอลลาร์ ที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางหรือรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ

Blockchain คือฐานข้อมูล (Database) รูปแบบหนึ่งที่เป็นการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือกระจายข้อมูลออกไปสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย แทนที่จะเก็บข้อมูลไว้ในจุด ๆ เดียว ทำให้ข้อมูลที่เก็บไว้ใน Blockchain มีความน่าเชื่อถือสูง ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

ส่วนมูลค่าของ Bitcoin มาจาก Network Effect หรือการยอมรับเป็นวงกว้างจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งจากบุคคลทั่วไปหรือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ประกอบกับการที่อุปทานของ Bitcoin มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ Bitcoin มีมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Bitcoin อย่าง Blockchain คือสิ่งที่สามารถนำมาต่อยอดให้เกิดเป็นใช้งานรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เช่นการประสาน Smart contract เข้ากับ Blockchain เพื่อสร้างเป็น Decentralized Application (DApp) หรือ Decentralized Finance (DeFi) จึงเรียกได้ว่า Bitcoin เป็นการเบิกทางไปสู่อนาคตแห่งวงการการเงินได้อย่างแท้จริง

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 07 ม.ค. 65 | อ่าน: 11,998
บทความล่าสุด