Blog

ERC คืออะไร? เครื่องมือสำคัญบน Ethereum ที่นักพัฒนาต้องรู้!

image

เชื่อว่าหลายคนที่เคยศึกษาและลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมาสักพักน่าจะรู้จักกับ Ethereum (ETH) กันดีแล้ว และก็อาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ ERC มาบ้าง แต่บางคนอาจยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ERC คืออะไร และทำไมถึงมี ERC หลายตัว

ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ ERC อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญของเครือข่าย Ethereum พร้อมยกตัวอย่าง ERC ที่น่าสนใจ!

ERC คืออะไร?

ERC ย่อมาจาก Ethereum Request for Comment ซึ่งเปรียบเสมือนเอกสารที่บันทึกรายละเอียดของการเขียนหรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ขึ้นบน Ethereum ที่นักเขียน Smart Contract ต้องดำเนินการตาม พูดอีกอย่างก็คือเป็น “มาตรฐาน” สำหรับการเขียนโปรแกรมบน Ethereum ก็ว่าได้ โดย ERC จะมีตัวเลขตามหลังเช่น ERC-20, ERC-721 ซึ่งเป็นเหมือนเลขประจำตัวของ ERC แต่ละตัว

บทบาทสำคัญของ ERC คือเพื่อทำให้การพัฒนาสิ่งต่าง ๆ บน Ethereum เป็นไปภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และทำให้ระบบนิเวศบน Ethereum สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว ลองนึกถึงสกุลไฟล์บนคอมพิวเตอร์ เช่น JPEG หรือ PNG ที่สามารถนำไปเปิดบนเว็บไซต์หรือคอมเครื่องอื่นได้ เพราะว่าไฟล์พวกนี้ใช้มาตรฐานเดียวกันนั่นเอง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาเป็น ERC นักพัฒนาบนเครือข่าย Ethereum จะมีการเสนอความคิดเห็นผ่านระบบ EIP (Ethereum Improvement Proposal) ซึ่งเป็นระบบที่ให้นักพัฒนาสามารถเสนอความคิดเห็น หรือ Proposal เกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ บน Ethereum และให้นักพัฒนาคนอื่น ๆ มาร่วมกันโหวตว่าจะปรับปรุงหรือเห็นด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนามาตรฐานใหม่ หรือ ERC ด้วยนั่นเอง ทำให้เครือข่าย Ethereum มีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างโปร่งใส

ERC ที่น่าสนใจ มีอะไรบ้าง?

image

ERC ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดคือ ERC-20 ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการสร้างโทเคนประเภท Fungible เช่น USDT, DAI, UNI รวมถึงโทเคนอื่น ๆ ดังนั้น โทเคนที่สร้างบน Ethereum ส่วนใหญ่มักจะใช้มาตรฐานนี้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าเวลาโอนเหรียญที่อยู่บนเครือข่าย Ethereum เช่น โอน USDT จาก Bitkub ไปกระเป๋าอื่น จะขึ้นว่าเป็นการโอนผ่านเครือข่าย ERC-20 นั่นเอง

อีก ERC ที่น่าสนใจก็คือ ERC-721 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการสร้างสินทรัพย์ประเภท NFT (Non-Fungible Token) หรือโทเคนที่มีลักษณะเฉพาะ ต่างจาก ERC-20 ที่เป็นสินทรัพย์แบบ Fungible ทำให้ ERC-721 มีความซับซ้อนมากกว่า

พิเศษขึ้นมาอีกขั้นก็คือ ERC-1155 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการสร้างสินทรัพย์ที่เป็นได้ทั้งแบบ Fungible และ Non-Fungible หรือที่เรียกว่า “Semi-Fungible” ยกตัวอย่าง ตั๋วภาพยนตร์ ที่สามารถซื้อขายได้เหมือนกับสินทรัพย์ประเภท Fungible แต่เมื่อทำการ Redeem หรือกดใช้ตั๋วนั้นจะกลายเป็นสินทรัพย์แบบ Non-Fungible เป็นต้น นอกจากนี้ ERC-1155 ยังพัฒนาเรื่องของการโอนโทเคนหลายสกุลในคราวเดียว ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นคนละธุรกรรม จึงช่วยประหยัด Gas Fee และพื้นที่บนบล็อกเชนได้อย่างมาก

และอีก ERC ที่ค่อนข้างใหม่และกำลังเป็นที่ถูกพูดถึงในช่วงนี้ ก็คือ ERC-4626 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับโทเคนประเภท Yield-Bearing Tokens หรือโทเคนที่สร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือ ซึ่งปกติจะได้มาเมื่อใช้บริการของ DeFi (Decentralized Finance) แต่ว่าก่อนหน้านี้ยังไม่มีมาตรฐานเฉพาะสำหรับโทเคนประเภทนี้ การมาของ ERC-4626 จึงอาจช่วยให้การใช้ DeFi มีความปลอดภัยมากขึ้น และอาจจุดกระแสให้ตลาดกลับมาสนใจลงทุน DeFi อีกครั้งก็เป็นได้

สำหรับ ERC อื่น ๆ สามารถเพิ่มเติมดูได้ที่ลิงก์นี้ https://eips.ethereum.org/erc

แล้วเครือข่ายอื่นใช้ ERC หรือไม่?

ไม่ใช่แค่ Ethereum เท่านั้น แต่บล็อกเชนอื่น ๆ ที่รองรับ Smart Contract ก็มีมาตรฐานของพวกเขาเองเช่นกัน แต่อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง Cardano (ADA) ที่ใช้มาตรฐาน CIP (Cardano Improvement Proposal) หรือ NEAR Protocol (NEAR) ที่มี NEP Near Enhancement Proposals เป็นต้น ซึ่งมีแนวคิดคล้าย ๆ กัน แม้รายละเอียดข้างในอาจแตกต่างกันออกไปก็ตาม

สรุป

ERC เปรียบเสมือน “มาตรฐาน” หรือแนวทางสำหรับการสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นบนบล็อกเชนของ Ethereum ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่การสร้างโทเคน, NFT, DeFi และระบบอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สิ่งที่อยู่ในระบบนิเวศของ Ethereum สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว

อ้างอิง Investopedia, Ethereum, Decrypt, CoinDesk

เปิดบัญชีและเริ่มลงทุน Ethereum (ETH) กับ Bitkub เลย: https://www.bitkub.com/buy-ethereum

*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน

Author: Waranyu Suknantee | 21 May 2022 | Read: 6821
Latest blog posts