Blog
อยากสร้าง NFT หารายได้ มาศึกษาข้อมูลก่อนลงมือได้ที่นี่
ศิลปินยุคนี้หันมาสร้าง NFT เพื่อหารายได้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสามารถนำผลงานศิลปะของตัวเองในรูปแบบดิจิทัลไปเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้เห็นได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน และมีโอกาสขายในราคาแพง ๆ ได้เมื่อมีนักสะสมสนใจ ซึ่งหากใครติดตามข่าวอยู่เสมออาจจะพอเห็นผ่านตาบ้างว่ามีศิลปินทั้งของไทยและต่างประเทศขายผลงานศิลปะแบบ NFT ได้ในราคาหลักล้านไปจนถึงพันล้านบาทก็มี จึงทำให้ศิลปินคนอื่น ๆ ที่ยังไม่รู้จัก NFT อยากทำตามบ้าง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการสร้าง NFT แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองเข้ามาอ่านข้อมูลต่อไปนี้ดูก่อน
NFT คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
สิ่งแรกที่คุณควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนสร้าง NFT ก็คือ NFT คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง NFT ย่อมาจากคำว่า Non-Fungible Token หมายถึง สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ซ้ำกับสินทรัพย์ชิ้นอื่น ไม่สามารถแบ่งขายเป็นหน่วยย่อยได้ และทำงานอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน
NFT แตกต่างจากสินทรัพย์ประเภท Fungible Token หรือสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินคริปโทฯ ทั่วไปอย่าง BTC, ETH, BNB ที่เราคุ้นเคยกันดีในการเทรดระยะสั้นและถือเหรียญระยะยาวโดยสิ้นเชิง ตรงที่ Fungible Token แต่ละหน่วยไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งขายเป็นหน่วยย่อยได้ และไม่ได้มีฟังก์ชันพิเศษใดๆ เพิ่มเติม
ประโยชน์หลักของ NFT
-รูปแบบของสื่อที่รองรับมีความยืดหยุ่นสูง เพราะสามารถแปลงไฟล์ดิจิทัลในหลายฟอร์แมต เช่น ภาพ วิดีโอ เสียง ข้อความ รวมถึงไฟล์เอกสาร ให้กลายเป็น NFT ได้
-ตัว NFT จะฝังข้อมูลทั้งลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ และบันทึกรายการธุรกรรมซื้อขายทั้งหมดตั้งแต่เริ่มสร้าง NFT จนถึงปัจจุบันเอาไว้บนเครือข่ายบล็อกเชน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ จึงเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ ตรวจสอบและยืนยันได้ว่าเป็นของจริง จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยและอุ่นใจในการทำธุรกรรมไปในตัว
-ด้วยความที่ NFT ทุกชิ้นมีความเฉพาะตัว จึงมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ต่อให้หน้าตาเหมือนกันทุกอย่างก็ถือว่าเป็นคนละชิ้นกันตามข้อมูลที่เข้ารหัสไว้บนบล็อกเชน ทำให้มีความน่าสะสมและมีมูลค่าตามแต่ความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย
-นำไปซื้อขาย โอน แลกเปลี่ยนกันบนแพลตฟอร์มที่รองรับ NFT ได้อย่างอิสระทั่วโลก ไม่จำกัดแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง จึงทั้งสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มโอกาสขายได้กับเจ้าของผลงาน
-สามารถซื้อขายด้วยวิธีที่ซับซ้อนได้ เช่น นำไปประมูลในช่วงเวลาที่จำกัด ขายรวมเป็นชุดหรือเป็นคอลเล็กชัน เป็นต้น
คุณสมบัติ NFT เพิ่มเติม
นอกจากประโยชน์หลัก ๆ ที่ว่ามา การสร้าง NFT ยังรองรับโค้ด Smart Contract ที่กำหนดคุณสมบัติพิเศษได้ตามที่นักพัฒนาต้องการ ไม่ว่าจะเป็น
-ระดับความหายาก
-จำนวนของ NFT ที่มีในระดับความหายากแต่ละระดับ
-โอกาสในการสุ่มได้ NFT ที่หายาก
-การนำ NFT ตามเงื่อนไขที่กำหนดมาผสมกันตั้งแต่ 2 ชิ้น ขึ้นไป แล้วเกิดเป็น NFT ชิ้นใหม่ได้ และเมื่อผสมกันแล้ว NFT ที่นำมาผสมจะหายไปหรือไม่ก็ได้
-การมอบเงินรางวัลเป็นเหรียญคริปโทฯ ให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของ NFT ชิ้นนั้น ๆ ตามระยะเวลาและจำนวนที่กำหนด
จุดเด่นมากมายเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทั้งศิลปินและนักสะสมผลงานศิลปะหันมาให้ความสนใจ NFT เพราะก่อนหน้านี้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง การยืนยันธุรกรรม อิสระในการนำไปขายนอกแพลตฟอร์มต้นฉบับของสินทรัพย์นั้น ๆ เป็นต้น
เข้าใจรูปแบบการใช้งานก่อนสร้าง NFT
ด้วยเหตุที่ NFT นั้นรองรับไฟล์หลากหลายประเภท การใช้งานจริงของ NFT จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่วงการศิลปะเท่านั้น แต่ยังนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น
-ใช้แทนของที่ระลึกทั่วไป รวมถึงของสะสมจากวงดนตรี ดารา และนักกีฬาดัง เนื่องจาก NFT มีระดับความหายากและจำนวนชิ้นที่มีจำกัด ซึ่งมีประโยชน์มากในการนำไปใช้กับของสะสมทั้งหลาย
-ใช้แทนไอเทมในเกม ซึ่งเกมแนว Play to Earn คือ แนวเกมหลักที่นำ NFT ไปใช้ เพื่อดึงดูดให้คนเข้าไปเล่นและสร้างรายได้จากการเล่นเกม
-ใช้แทนบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตหรือดูการแข่งขันกีฬา
-ใช้แทนโดเมนเว็บไซต์
-ใช้แทนโฉนดที่ดินทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง
ดังนั้น คุณจึงควรศึกษาข้อมูล ดูความต้องการของตลาด และถามตัวเองก่อนว่า อยากนำเสนอ NFT ของตัวเองในรูปแบบไหนกันแน่จึงจะทำได้ดี หรือทำแล้วมีโอกาสขายได้สูง ไม่แน่นะ คุณอาจจะค้นพบหนทางใหม่ ๆ ในการสร้าง NFT ก็เป็นได้
อยากสร้าง NFT ทำยังไงได้บ้าง
1.เครื่องมือออกแบบ
สิ่งแรกควรคำนึงถึงก็คือ เครื่องมือที่จะใช้สร้าง NFT ขึ้นมา ซึ่งคุณสามารถใช้โปรแกรมออกแบบที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์หรือแอปพลิเคชันในมือถือของคุณได้เลย เช่น Photoshop, Illustrator, Corel Painter, Krita เป็นต้น แต่ละโปรแกรมอาจจะมีตัวช่วยในการสร้าง NFT ไม่เหมือนกัน หรือมีข้อจำกัดบางอย่าง เพราะไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อ NFT โดยเฉพาะ หากคุณอยากได้อะไรที่เฉพาะทางมากขึ้น ก็ลองดาวน์โหลดโปรแกรมอย่าง VoxEdit สำหรับสร้าง NFT เป็นภาพสามมิติสไตล์ Voxel หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอย่าง NFT Creator เพื่อออกแบบ NFT ง่ายๆ ด้วยเทมเพลตสำเร็จรูปที่มีครบครันมาลองใช้ดู หรือจะใช้เครื่องมือออนไลน์อย่าง NFT Art Generator ก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของ NFT ที่คุณอยากนำเสนอด้วย เพราะอย่างที่เราบอกไปว่า นอกจากภาพแล้วคุณจะใช้ไฟล์อะไรสร้าง NFT ก็ได้ ถ้าไอเดียของคุณคือการนำข้อความที่โพสต์บน Social Media มาขายเหมือน Jack Dorsey ที่ขาย NFT จากโพสต์แรกบน Twitter ของตัวเองไปในราคาเกือบร้อยล้านบาท ก็คงไม่มีใครห้าม แถมยังแทบไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไร ประหยัดแรงและเวลาไปได้เยอะเลย
2.เครือข่ายบล็อกเชน
การเลือกเครือข่ายบล็อกเชนที่คุณจะนำผลงาน NFT ไปใช้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะในปัจจุบันมีตัวเลือกมากมาย เช่น Ethereum Network, Polygon, BNB Chain, Solana, NEAR เป็นต้น แต่ละเครือข่ายมีข้อดี ข้อเสีย ความนิยม ความเสถียร ความรวดเร็วในการประมวลผลธุรกรรม รวมถึงค่าธรรมเนียมในการใช้งานไม่เท่ากัน คุณจึงควรเปรียบเทียบให้ดีก่อนตัดสินใจ
3. แพลตฟอร์มซื้อขาย
ถัดมาคือเลือก NFT marketplace หรือแพลตฟอร์มที่ใช้ในการซื้อขาย NFT ของเครือข่ายบล็อกเชนนั้นๆ ซึ่งหลายแพลตฟอร์มจะรองรับแค่เครือข่ายเดียว แต่บางแพลตฟอร์มก็อาจรองรับมากกว่า 1 เครือข่าย เช่น
OpenSea รองรับ Ethereum, Polygon, Solana, Klaytn
tofuNFT รองรับกว่า 20 บล็อกเชน เช่น BNB Chain, Ethereum, Polygon, Avalanche, Fantom เป็นต้น
Rarible รองรับ Ethereum, Polygon, Solana, Flow, Tezos
แต่ละแพลตฟอร์มย่อมมีจุดเด่น จุดด้อย ที่แตกต่างกัน เช่น ความเข้มงวดในการคัดเลือกผลงาน ความหลากหลายของผลงาน ความนิยม ฟังก์ชันที่มีให้ใช้งาน ความยากง่ายในการใช้งานและสร้าง NFT สกุลเงินคริปโทฯ ที่รองรับ รวมถึงค่าธรรมเนียม ซึ่งบางที่ก็ไม่คิดค่าธรรมเนียมด้วย เป็นต้น
เมื่อเลือกแพลตฟอร์มได้แล้ว ก็ทำการล็อกอินด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลที่รองรับการใช้งานเครือข่ายดังกล่าวและรองรับ NFT เช่น Metamask ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ยากอะไร เพียงแค่ล็อกอิน อัปโหลดไฟล์ และกรอกรายละเอียดข้อมูลของ NFT ของคุณ จากนั้นจ่ายค่าธรรมเนียมด้วยเหรียญคริปโทฯ ที่กำหนด ใช้เวลาทั้งหมดไม่กี่นาทีก็พร้อมขายแล้ว
ข้อควรระวังในการสร้าง NFT
ปัญหาหนึ่งที่คุณควรรู้เอาไว้ก็คือ แม้ว่า NFT จะมีการบันทึกข้อมูลหลายอย่างไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบนเครือข่ายบล็อกเชน แต่ก็อาจเกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้ และยังมีให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง OpenSea
ซึ่งปัญหานี้เป็นช่องโหว่ทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับไฟล์ดิจิทัลที่ใคร ๆ ก็สามารถกดเซฟรูปภาพของคุณแล้วเอาไปอัปโหลดใหม่ โดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของผลงาน แล้วขายรูปนั้นหาเงินได้แบบชิล ๆ กว่าเจ้าของผลงานจะมาเห็น ร้องเรียนแพลตฟอร์มให้มีการตรวจสอบ แล้วลงมือแบนผลงานที่ขโมยมาเสร็จ คนที่ขโมยผลงานไปขายก็ได้เงินไปเยอะแล้ว และมักจะตามตัวมาลงโทษไม่ได้ด้วย เนื่องจากแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบยืนยันตัวตนที่รัดกุมพอ
เตรียมความรู้ให้พร้อมกับ Bitkub ก่อนสร้าง NFT
คุณสามารถติดตามอ่านข่าวสารและเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ NFT และวงการคริปโทเคอร์เรนซีได้ที่บล็อกของเรา เพื่อให้คุณเข้าใจพื้นฐานอย่างถ่องแท้ มั่นใจก่อนลงมือสร้าง NFT หารายได้อย่างจริงจัง และหากคุณต้องการสะสมงานศิลปะ NFT ของศิลปิน Digital Art ชื่อดังชาวไทย ก็สามารถเข้าไปดูผลงานสวย ๆ ได้ที่เว็บไซต์ Bitkub NFT ซึ่งอีกไม่นานจะมีการเปิดให้คนทั่วไปสามารถสร้าง NFT ของตัวเองแล้วหารายได้บนแพลตฟอร์มของเราได้ โปรดติดตาม!
— — — — — — -
* คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
** สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
*** ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต